ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ปัดฝุ่นโครงการเสนอรัฐ สอดคล้อง BCG
ประชุมหอการค้าทั่วไทย "สนั่น อังอุบลกุล" นำผลประชุม APEC ผลักดันสู่แนวปฏิบัติ หอการค้า 5 ภาค รวบรวมผลสรุป "สมุดปกขาว" เสนอรองนายกรัฐมนตรี ปัดฝุ่นโครงการเก่า สอดคล้อง BCG หอภาคตะวันออกชงจัดงาน EEC Fair หอภาคกลางตั้งนิคม Food Valley หอใต้เสนอระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หอภาคเหนือดันโครงการ NEC ประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯได้จัดสัมมนา หอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 ในวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะมีการรวบรวมและสรุปประเด็นแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ “สมุดปกขาว” เพื่อยื่นให้กับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป
การจัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ ตนจะได้นำเสนอประเด็นว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Model) ที่เป็นผลจากการประชุม APEC ที่ผ่านมา เข้ามาหารือกับหอการค้าทั่วประเทศ โดยจะร่วมกันหาแนวทางการขับเคลื่อนตามความถนัดและความสามารถของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คนรุ่นใหม่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าสามารถขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง
พร้อมทั้งจะมีการหารือกันถึงการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การผลักดันการขอใบอนุญาตให้เข้าสู่ระบบออนไลน์ การสร้างยุทธศาสตร์การค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมีเป้าหมายในปี 2566 ได้แก่ จีน, ซาอุดีอาระเบีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และอินเดีย
อย่างไรก็ดี แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะยังมีความชะลอตัว แต่หอการค้ายังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาส หลังจากการประชุม APEC ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะ ความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ไทยยังมีโอกาสขยายการค้า การส่งออก-ลงทุน พร้อมทั้งจะร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการขับเคลื่อนและดึงดูดการลงทุนต่อไป
พร้อมกันนี้หอการค้ายังให้หน่วยงานศึกษาและโอกาสความเป็นได้สำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาซื้ออสังหาฯในระบบเช่า-ซื้อ จะมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไรด้วย
ภาคเหนือเร่งขับเคลื่อน 4 มิติ :
นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า หอภาคเหนือจะนำเสนอ 4 มิติเกี่ยวกับการพัฒนาระหว่างปี 2566-2570 ได้แก่
1) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
2) ส่งเสริมการค้าการลงทุนในภาคเหนือ ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมดิจิทัล 3) การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ health and wellness ผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น และ 4) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนโครงการเร่งด่วนเบื้องต้นจะมี 4 ด้าน คือ
1) โครงการด้าน NEC (Northern Economic Corridor : NEC) ประกอบไปด้วย โครงการจัดตั้งคณะกรรมการ NEC ภาคเหนือ, โครงการ NEC Valley ในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการ Special Economic Zones ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านสู่ภูมิภาค 10 จังหวัดในภาคเหนือ จะมีจังหวัดเชียงรายและจังหวัดตาก
2) แผนแม่บทในการจัดการเรื่องน้ำภาคเหนือ จากปัญหาน้ำท่วมหนักและแล้งจัดทุกปี
3) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว Happy Model ซึ่งจะขับเคลื่อนและยกระดับ Wellness Tourism และ
4) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ภาคเหนือ ตอนนี้มีมติเห็นชอบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ (นครสวรรค์)-เด่นชัย และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด
อีสานฐานอุตฯชีวภาพ :
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเสนอรัฐบาลในธีม “ปลุกเศรษฐกิจอีสานฟื้นเศรษฐกิจไทย” ด้วยการ
1) ปลุกพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจให้มีความพร้อมเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูง การบริการดูแลสุขภาพ การแพทย์ และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ
2) สร้างประตูสู่การค้าการลงทุนในระดับนานาชาติและอาเซียน เน้นไปที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
3)เปิดประตูการท่องเที่ยว จากเส้นทางเดิมให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และ
4) สร้าง wellness center รวมทั้งศูนย์สุขภาพทั้งหมด โดยใช้เกษตรปลอดภัย ยกระดับองค์ความรู้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
“ภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเดิมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จะใช้ประโยชน์จากช่องทางต่าง ๆ ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ช่องทางการขนส่งระบบรางไปสู่จีนและยุโรป มาเลย์ สิงคโปร์ นอกจากนี้ก็หนุน NeEC ปั้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 4 จังหวัด (ขอนแก่น-นครราชสีมา-อุดรธานี-หนองคาย) เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อบุกกลุ่ม CLV และจีนตอนใต้ ยกระดับการค้าชายแดน สร้างสะพานแม่น้ำโขง หนุนโลจิสติกส์การขนส่งไทย-ลาว-จีน และยังมีเรื่องการบริหารจัดการน้ำ 365 วัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก การยกระดับการเกษตรโดยใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างจุดขายให้พื้นที่ภาคอีสานเป็นฮับเมืองแห่งอาหารและสมุนไพร ตลอดจนโครงการโค 1 ล้านตัวด้วย” นายสวาทกล่าว
ภาคกลางพัฒนา Food Valley :
ด้าน นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผยว่า ภาคกลางได้มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนภูมิภาคกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีการนำเสนอโปรเจ็กต์ทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่
1) การจัดตั้งตั้งนิคมวิจัยและพัฒนา เรียกว่า “Food Valley” ในจังหวัดปทุมธานี เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป
2) การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศ เบื้องต้นจะต้องมีการจัดทำแผนโลจิสติกส์ของประเทศ
3) การปรับปรุงผังเมืองในกลุ่มปริมณฑล 4 จังหวัด (ปทุมธานี-นครปฐม-สมุทรสาคร-สมุทรปราการ) ควรจะมีการปรับผังเมืองให้รองรับกับพื้นที่อยู่อาศัยและ
4) เรื่องท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ มี 3 เส้นทาง คือ ทวารวดี-ละโว้-อยุธยา มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง นำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับ Happy Model และใช้หลักการคิดของ BCG โดยทาง อว.จะช่วยเรื่องของการทำคอนเทนต์ สตอรี่ ด้าน ททท.จะช่วยเรื่องการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ ในส่วนหอการค้ามี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เป็นกลุ่มบริหารจัดการท่องเที่ยว
จัด EEC Fair เทียบเท่า BOI Fair :
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคตะวันออกมี 3 เรื่องหลักที่จะเสนอ ได้แก่
1) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดงาน “EEC Fair” อยากให้เป็นงานใหญ่เทียบเท่ากับงาน “BOI Fair” ในอดีต เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของ EEC ในการรองรับอุตสาหกรรม S-curve ต่อนักธุรกิจต่างชาติ เป็นโครงการของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้รับประโยชน์
2) โครงการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ โดยต้องการให้รัฐบาลเจรจากับทางการจีนให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบผลไม้ที่ประเทศไทย ก่อนส่งออกไปจีนเพื่อไม่ให้มีปัญหาปลายทาง นอกจากนี้จะผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) จะมีการจัดพัฒนาระบบห้องเย็นด้วย
3) การเทรดคาร์บอนเครดิต จะต้องมีมาตรการมาช่วยเหลือให้กับภาคเกษตร โดยจะเริ่มจากสวนยางพาราในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งทางหอการค้าจะกระตุ้นไปยังรัฐบาลให้เข้าไปช่วยส่งเสริม กยท.ในการดำเนินการ
เวลเนสอันดามัน :
นายวัฒนา ธนาศักดิ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า มีเรื่องหลักที่จะมีการนำเสนอ 4 เรื่อง ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่เคยมีการนำเสนอไปแล้วแต่ยังไม่ได้ ได้แก่
1) แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน Andaman Wellness Economic Corridor (AWC) (พ.ศ. 2565 -2574)
โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่-ระนอง) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์ด้านการเยียวยา ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ซึ่งมีการนำร่องจังหวัดภูเก็ตใน 3 อำเภอ (อำเภอเมือง-กะทู้-ถลาง) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เชื่อมงานบริการให้อยู่ในหน้าต่างเดียวกัน ระยะที่ 2 พัฒนา super license ในกิจการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ
2) Phuket Expo 2028 ได้มีการนำเสนอภาครัฐไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเจรจา ตอนนี้มีคู่แข่งอยู่ 4 เมือง ใน 4 ประเทศ (มลรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา-มาลากา สเปน-เบลเกรด เซอร์เบีย-San Carlos de Bariloche อาร์เจนตินา)
3) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์-Land Bridge) ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้า รวมถึงสามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในพื้นที่ได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565