เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ห่วงต้นทุนสูงค่าครองชีพแพง ปีใหม่เงินสะพัดแสนล้าน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6-7 และสูงสุดในรอบ 20 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (CCI) เทียบเดือนตุลาคม ดีขึ้นเป็น 47.9 จาก 46.1 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน เป็น 32.6 จาก 30.7 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต เป็น 55.2 จาก 53.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 42.0 45.2 และ 56.4 ตามลำดับ จาก 40.0 43.6 และ 54.8 ตามลำดับ
สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การใช้จ่ายด้านซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ท่องเที่ยว ลงทุน มุมมองต่อการเมือง และความสุขในการดำรงชีวิตล้วนขยับดีขึ้น นอกจากนี้ ได้สำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย(ภาคธุรกิจ) เดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ทุกรายการปรับตัวดีขึ้น โดยค่าดัชนีฯโดยรวม ดีขึ้นเป็น 43.9 จาก 43.1 ดัชนีฯในปัจจุบันเป็น 43.5 จาก 42 ดัชนีฯต่ออนาคต เป็น 44.4 จาก 44.2
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจสะท้อนว่าผู้บริโภคและธุรกิจ รู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังผ่อนคลายกฎระเบียบจากมาตรการโควิดให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการไปปกติ การเปิดประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เกิดการเดินทางและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของคนไทยและต่างชาติ จนเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับดีขึ้น ยิ่งในไตรมาส 4 ของปี เป็นช่วงที่มีการเดินทางและเงินใช้จ่ายตามเทศกาล ทั้งการหยุดยาว ใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังกังวลเรื่องราคาน้ำมัน ค่าไฟ ค่าครองชีพทรงตัวสูง ความกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อต้นทุนและเงินเฟ้อทั่วโลก เป็นการเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า รวมถึงกังวลสถานการณ์โควิดยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะคลายตัวลงแต่ทำให้เศรษฐกิจไทยย่อตัวลง จากระมัดระวังใช้จ่ายหรือลงทุน ไม่เพิ่มการจ้างงาน เพราะมองเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าในอนาคตและความไม่แน่นอนปัจจัยในและนอกยังสูง
“ภาคธุรกิจ เสนอให้รัฐออกแนวทางควบคุมปัจจัยการผลิตของธุรกิจ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกและนำเข้า ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ของขวัญปีใหม่จากภาครัฐ เร่งเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่กระสบภัยน้ำท่วม เร่งกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเตรียมพร้อมมาตรการรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ช่วงเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศ จะปรับตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4/2565 ถึงไตรมาสแรก 2566 จากเม็ดเงินท่องเที่ยว ที่คาดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 10 ล้านคน รายได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 20-22 ล้านคน รายได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งเงินสะพัดจากช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าปีนี้จะเกือบ 1 แสนล้านบาท สูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท และการส่งออกยังดีต่อเนื่อง โตได้ 7% ส่วนเงินเฟ้อสูงขึ้น 6.1% ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัว 3.2-3.3% สำหรับปี 2566 ติดตามเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย และสงครามรัสเซีย-ยูเครนและประเทศอื่นๆปะทุรุนแรง ประกอบกับการใช้จ่ายในประเทศ รัฐออกมาตรการลดค่าครองชีพและกระตุ้นใช้จ่าย เงินสะพัดจากโหมดเลือกตั้งคาดว่าจะใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท จะเกิดการหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจมูลค่าจะเพิ่มเป็น 7-8 หมื่นล้านบาท ที่มีผลต่อจีดีพีอีก 0.3% และคาดเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัว 3.5%
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงกรณีพรรคการเพื่อไทยประกาศนโยบายจะปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ในช่วง 5 ปีนั้น ในแง่ธุรกิจมองว่าเป็นการกระชากมากเกินไป อาจรับไม่ไหว เฉลี่ยขึ้น 7-10% ต่อปี หากยังไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 6-7% ต่อปี การปรับค่าแรงสูงๆ ซึ่งค่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นสัดส่วน 40-60% ของต้นทุนประกอบการ ถือว่าเป็นภาระที่หนัก อาจทำให้เกิดการชะลอจ้างงานใหม่หรือนำเครื่องจักรมาแทนแรงงานคน ถือเป็นโจทย์ที่เอกชนและรัฐต้องมีแผนรองรับผลกระทบด้วย เช่น ลดหย่อนภาษี 2 เท่า
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 8 ธันวาคม 2565