"กกร." ชี้อานิสงส์เอเปค ดัน ศก.โต คาด 3 ปี สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 5-6 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวสรุปภาพรวมการจัดงาน APEC 2022 : ประเทศไทยได้อะไรจากการประชุม จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า จากการจัดประชุมเอเปค 2022 (APEC 2022) ที่มีผู้นำสมาชิกเขตเศรษฐกิจ 21 เขตเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกลุ่มเอเปคมีประชากรร่วมกัน 2.8 พันล้านคน จีดีพีร่วมกันกว่า 59% ของจีดีพีโลก ซึ่งมีสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกสูงถึง 69.8% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด
นายสนั่นกล่าวว่า ภายหลังจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน โดยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท อาทิ ประโยชน์ระยะสั้น ภายใน 3-6 เดือน จะส่งเสริมภาพลักษณ์ซอฟต์เพาเวอร์ผ่านการประชาสัมพันธ์ อาหาร และวัฒนธรรมไทยที่ได้นำเสนอผ่านการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่างๆ ซึ่งสร้างประโยชน์สำคัญ 2 ประการคือ 1.ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 1-2 แสนคน สร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องของไทยถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และ 2.สร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอุตสาหกรรมบีซีจี พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี
ขณะเดียวกัน ประโยชน์ระยะยาวภายใน 3-5 ปี คาดว่าจะสร้างการลงทุนจากต่างชาติ มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จากปัจจัย
(1)การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับจีนที่เห็นพ้องกันให้เพิ่มมูลค่าและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (RCEP) และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งคาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท
(2)การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council-GCC) 6 ประเทศ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต การ์ตา โอมาน บาเรน และยูเออี โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 สาขาในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการ ในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท
(3)การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท
(4)การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และโรบอต ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท 5. การลงทุนในธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่า การจัดงานเอเปค 2022 สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ดังนั้น โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเปิดแล้ว และเป็นโอกาสสำคัญกับหลายส่วน อาทิ ภาคการค้าและการลงทุน จะเกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับคนไทย รวมถึงการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 ธันวาคม 2565