กกร. ตั้งโต๊ะ วอนรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ ห่วงต้นทุนเพิ่ม นักลงทุนเบนเข็มไปเพื่อนบ้าน
กกร. ตั้งโต๊ะ วอนรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ พร้อมเปิด 5 ข้อเสนอช่วยบรรเทาปัญหา ห่วงต้นทุนเพิ่ม ดันเงินเฟ้อพุ่ง อุตฯไทยแข่งขันได้ลดลง นักลงทุนเบนเข็มไปเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม กกร. ได้ยื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอเข้าพบ และหารือเรื่องผลกระทบจากแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับเท่าเดิมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย ในวันที่ 1 มกราคม 2566 นี้
กกร.นั้นอยากฉายภาพว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีความเปราะบางมาก และมีปัญหาหลายอย่างที่เห็นว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า จะส่งผลกระทบทุกด้าน โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้น 20% รวมทั้ง ส่งผลให้ต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น และกระทบกับอัตราเงินเฟ้อประเทศเพิ่มขึ้นอีก 0.5% จากเดิมที่ประเมินว่าเงินเฟ้อปี 2566 จะอยู่ที่ 3% อาจจะไปแตะที่ 3.5%ได้ รวมทั้งส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หยุดชะงัก เนื่องจากในปี 2564 พบว่า รายได้จากภาคการผลิตมีสัดส่วน 27% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) แล้วก็ไม่อยากให้โมเมนตัม ทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่กำลังเพิ่มขึ้น ต้องชะงักเพราะค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาและอุปสรรค หรือทำลายบรรยากาศภาคการบริการและการท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้ก็เห็นแล้วว่านักลงทุนต่างชาติสนใจ ลงทุนในไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็พร้อมอยู่แล้ว
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่ภาคเอกชนมีความกังวลจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ส่งผลในหลายด้าน ไม่ว่า จะเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ และที่สำคัญ คือ ความน่าสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณา
“จากปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวไปก็ทำให้เรากังวล และอยากจะขอให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าไฟฟ้าออกไป หลายภาคส่วน มีข้อเสนอมากมาย ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาแต่ละจุด ว่าควรต้องปลดล็อกอะไรบ้าง ทั้งนี้การที่รัฐบบาลตัดสินใจช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาคครัวเรือนนั้น เอกชนเห็นด้วย แต่รัฐบาลควรจะจัดสรรเงินขึ้นมา ไม่ใช่ผลักภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าไปที่ภาคอุตสาหกรรม เพราะแก้ปัญหาหนึ่งและไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง จะทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่า ”
ดังนั้น ในฐานะภาเอกชน จึงอยากสะท้อนปัญหา และดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ร่วมกันช่วยกันคิดแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างพลังงานของไทย เพราะเป้ฯต้นทุนสำคัญ และแนวโน้มในอนาคต จะต้องก้าวข้ามเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ไปสู่สิ่งที่จะเป็นโอกาส อาทิ เรื่องพลังงานสะอาด และเศรษบกิจสีเขียว เชื่อว่าถ้ามีเวที ร่วมภาครัฐและเอกชน เรื่องพลังงานก็จะทำให้มีโอกาสหารือกัน และมองปัญหาได้รอบด้าน
จากการสำรวจข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคการผลิตใชไฟฟ้าประมาณ 45% ภาคครัวเรือน อีก 28% และภาคบริการอีกกว่า 20% สะท้อนให้เห็นว่า ในขณะที่ไทยกำลังฟื้นตัว และดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ถ้าเราสามารถผ่านพ้นปัญหาได้ และไม่ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า ก็จะเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ
ซึ่งขณะนี้ เป็นโอกาสสำคัญ หลังจากที่ที่เกิดปัญหาสงครามการค้า การที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และพยายามหาที่ลงทุนใหม่ ประเทศไทยเองก็อยู่ในสายตา เรด้าของนักลงทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปถึงเรื่องค่าไฟฟ้า ที่เพื่อนบ้านอยู่ที่ราว 2-3 บาท ต่อหน่วย แต่ของไทยกำลังขึ้นไปที่ 5.69 ต่อหน่วยและจะผลในอีกกี่วันข้างหน้านี้ ก็อาจจะทำให้นักลงทุนลังเล และเปลี่ยนใจไปลงทุน ในประเทศที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกกว่า ซึ่งทำให้ไทยเสียศักยภาพ และโมเมนตัม ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นๆของไทยไป
และการที่มีการลงทุนใหม่ๆ และมีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งเป็นผลดีอีกหลายด้าน ดังนั้นฝากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันพิจารณา และรับฝังภาคเอกชน ว่าจะตอบรับได้ไหม ช่วยตรึงราคาค่าไฟ และไม่ปรับขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2566 นี้ เพราะว่าหลังจากนี้ทิศทางค่าพลังงานของโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง ไม่ว่าราคาน้ำมันดิบ ขณะนี้อยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าก๊าซธรรมชาติ ช่วงนี้อาจจะแพงขึ้นเนื่องจากหน้าหนาว แต่ในอีก 3-4 เดือนก็จะลดลงเช่นกัน
ขณะที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการติดตามถึงสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และจากการประชุม กกร.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟที เดือน มกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สำหรับรายละเอียด ข้อเสนอ ในหนังสือที่กกร.ได้ยื่นให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้า มีความครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่
(1)ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทนและภาครัฐควรเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง
(2)ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี
(3)ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ส่วนแรกขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2 – 3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off-Peak) มากขึ้น
(4)เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากแก๊สธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้งโซล่า เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์(แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปรกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผงโซล่า และอุปกรณ์เช่น อินเวอร์เตอร์ และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ( Net metering ) สำหรับอุตสาหกรรมและบริการและ
(5)มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 23 ธันวาคม 2565