สะพานแห่งกาลเวลา : โควิดที่จีน โลกควรกังวลหรือไม่? โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
จีนยกเลิกนโยบายเข้มงวดกับโควิด-19 ที่เรียกกันว่า "ซีโร่โควิด" ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เป็นการเลิกแบบกะทันหัน เพราะแรงกดดันจากการประท้วงที่เริ่มกระจายออกไปทั่วประเทศ
การยกเลิกมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นเกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ดีพอ ผลก็คือ โควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน แพร่ระบาดขนานใหญ่เรื่อยมาจนถึงขณะนี้
เพื่อให้แพร่ระบาดได้ ไวรัส ซาร์ส-โควี-ทู ที่ก่อโรคโควิด-19 จำเป็นต้อง “ขยายพันธุ์” เพิ่มจำนวนตัวมันเองให้มากขึ้น โดยใช้วิธีการ “ทำซ้ำ” จากไวรัสตัวเดิม หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ “ก๊อบปี้” ออกมาให้ได้มากๆ นั่นเอง
ปัญหาคือ แทบทุกครั้งที่มีการ “ก๊อบปี้” เกิดขึ้น มักมีความผิดพลาดเกิดขึ้นตามมาด้วยเสมอ บางส่วนอาจก๊อบปี้มาได้ไม่หมด นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า การ “กลายพันธุ์”
องค์การอนามัยโลกยืนยันไว้ว่า ยิ่งไวรัสแพร่ระบาดอยู่นานมากเท่าใด โอกาสกลายพันธุ์ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
แล้วก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม ทั่วโลกเห็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในจีนแล้วเกิดความกังวล เพราะเป็นไปได้ว่า การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในการแพร่ระบาดที่จีน อาจกลายเป็น “สายพันธุ์ย่อยที่น่าวิตก” หรือ “แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น” ตัวใหม่ออกมาแล้วแพร่ระบาดออกไปในประเทศอื่นๆ ได้อีกครั้ง
เฉิน ซือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลก ของมหาวิทยาลัยเยล ยอมรับว่า ผลจากการแพร่ระบาดขนานใหญ่ในจีนยัง “คาดการณ์ไม่ได้”
ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้เพราะจีนมีตัวแปรสำคัญอยู่เยอะมาก กล่าวคือ มีประชากร 1.4 พันล้านคน มากที่สุดในโลก แถมยังมีประชากรกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันเปราะบางหรือไม่มีอยู่เป็นจำนวนมาก คนในกลุ่มนี้ อาจติดเชื้อแล้วมีเชื้ออยู่ในตัวได้นานหลายๆ เดือน เปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ได้มาก
ประชากรกลุ่มเปราะบางที่ว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้สูงวัยที่อายุเกิน 80 ปี แต่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในจีนมีถึง 8 ล้านคน หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะเบาหวาน ซึ่งจีนมีอยู่มากกว่า 160 ล้านคน
อย่างไรก็ตามแม้ว่า เฉิน ซือ ยอมรับว่า โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงกว่าเดิมนั้นมีอยู่ แต่บางทีอาจน้อยกว่าที่คิดกันก็เป็นได้
เหตุผลก็คือ จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์มานาน เพิ่งมายกเลิก เชื้อโควิดเท่าที่คนจีนเคยสัมผัสก็คือ เชื้อดั้งเดิม ต่อมาเมื่อยกเลิกก็เจอเข้ากับสายพันธุ์กลายพันธุ์ล่าสุดอย่างโอมิครอนเข้าทันที
โอมิครอนที่แพร่ระบาดอยู่จึงไม่มี “แรงกดดัน” ให้ต้องกลายพันธุ์ เพราะแพร่ได้ง่ายอยู่แล้ว
สจวร์ต เทอร์วิลล์ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันเคอร์บี ในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เห็นพ้องด้วย และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้ว่า ในประวัติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งหมดที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏว่ามีสายพันธุ์กลายพันธุ์ตัวไหนสามารถกลายพันธุ์ต่อแล้วร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิมมาก่อน
เทอร์วิลล์ระบุว่า เท่าที่ตรวจสอบจนถึงขณะนี้ เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอยู่ในจีนก็ยังเป็นโอมิครอน บีเอฟ.7 อยู่เหมือนเดิม
จิน ตงเหยียน นักไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้เพิ่มเติมว่า โอมิครอนแพร่ระบาดหนักไป 3 ใน 4 ของโลก แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีเชื้อกลายพันธุ์จากเชื้อนี้ปรากฏออกมา แล้วทำไมถึงต้องมาปรากฏที่จีน? เขาชี้ให้เห็นว่า โอกาสเป็นไปได้นั้นมี แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องร้ายแรงกว่า ทำให้ตายมากกว่าเดิมแต่อย่างใด
แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้หมายความว่าสามารถสบายใจหายห่วงได้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญทุกคนชี้ว่า ต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นดีที่สุด
โชคดีที่ทางการจีนเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ สวี่ เวิ่นป๋อ หัวหน้าสถาบันเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคจากไวรัสแห่งชาติของจีน ระบุว่า ทางการกำหนดให้โรงพยาบาล 3 แห่งของทุกๆ มณฑล ต้องตรวจสอบด้วยการจำแนกพันธุกรรมตัวอย่างไวรัสโควิดจากเคสฉุกเฉิน 15 เคส, เคสที่มีอาการหนัก 10 เคส, และทุกๆ เคสที่เป็นการเสียชีวิต ในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของไวรัส
สวี่ เวิ่นป๋อ ให้ความเห็นส่วนตัวเอาไว้ว่า การแพร่ระบาดในจีนไม่น่าจะก่อให้เกิดสายพันธุ์ย่อยร้ายแรงตัวใหม่ ที่สามารถระบาดได้เร็วกว่าเดิม ทำให้ถึงตายได้มากกว่าเดิม
เหตุผลของเขาก็คือว่า ไวรัสโควิด เมื่อกลายพันธุ์แล้วมีแนวโน้มที่จะไม่รุนแรงกว่าเดิม
โอมิครอน มีสายพันธุ์กลายพันธุ์ย่อยๆ ทั้งหมด 709 สายพันธุ์ แต่ 700 สายพันธุ์ในจำนวนนั้น ไม่ทำให้ป่วยหนักกว่าเดิม ตายเยอะกว่าเดิม
มีเพียงแค่ 9 สายพันธุ์เท่านั้นที่แพร่ได้เร็วกว่าเดิมเท่านั้นเอง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 มกราคม 2566