"หอการค้า" ฝากความหวัง ท่องเที่ยว - FDI-บริโภคเอกชน ดันจีดีพีโต 3.5%
เอกชนฝากความหวัง "ท่องเที่ยว-ลงทุนต่างชาติ-บริโภคภาคเอกชน" ฟื้นช่วยคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 66 โตได้ 3-3.5% ชี้หลังเป็นเจ้าภาพเอเปคฉายภาพไทยโดดเด่น คาดดึง FDI เข้าประเทศได้ไม่ต่ำ 6 แสนล้านใน 5 ปี แนะรัฐเติมสภาพคล่อง SMEs ดูแลค่าไฟ พยุงราคาสินค้า ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป
ปี 2566 ภาคธุรกิจและประชาชนยังต้องเผชิญปัจจัยลบมากมาย ทั้งค่าครองชีพมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคานํ้ามัน ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ค่าเดินทาง ฯลฯ ยังทรงตัวในระดับสูงและยังมีทิศทางขาขึ้น อย่างไรก็ดีภายใต้วิกฤติก็ยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2566 หอการค้าไทยเชื่อว่า แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยแต่ประเทศไทยจะยังสามารถเติบโตทวนกระแสโลกได้จากปัจจัยบวกในช่วงปลายปี 2565-2566 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของไทยที่ดำเนินการได้รวดเร็ว ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการฉีดวัคซีน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแทบเป็นปกติ ต่อเนื่องด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
“ปัจจัยที่กล่าวมา หอการค้าไทยคาดจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 คาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีเข้ามา 11-11.5 ล้านคน เกินกว่าเป้าหมายที่หลายส่วนตั้งไว้ที่ 10 ล้านคน และคาดในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 20 ล้านคน และที่น่าสนใจคือจากการเปิดประเทศของจีนที่จะเริ่มวันที่ 8 ม.ค.นี้จะส่งผลมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยอีกเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นหากรวมนักท่องเที่ยวจีนคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ประมาณ 25 ล้านคน”
ส่วนภาคการส่งออกแม้ตัวเลขช่วงตุลาคม-ธันวาคม มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่หากนับรวมตั้งแต่ต้นปีภาพรวมการส่งออกปีที่ผ่านมายังถือว่าเติบโตได้อย่างน่าพอใจ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประเมินปี 2565 มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 7.2% ส่วนในปี 2566 ต้องจับตามองใกล้ชิด เพราะประเทศคู่ค้าทั่วโลกมีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย
ด้านการลงทุนในปี 2566 ถือเป็นโอกาสทองของไทย จากโมเมนตัมของการเป็นเจ้าภาพเอเปค ที่ช่วยสร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยประโยชน์ระยะยาว คาดว่าจะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี ทั้งจากประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงญี่ปุ่นที่ประกาศลงทุนในอุตสาหกรรม EV ของไทยต่อเนื่อง
“ในปี 2566 ภาคเอกชนประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.0-3.5% ส่วนการส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง คาดจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7% ถึง 3.2%”
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังมีข้อแนะนำรัฐบาลในการบริหารประเทศเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยระบุว่า ปี 2566 ถือเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย แม้หอการค้าฯ ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมรวมเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหอการค้าฯมีข้อเสนอแนะ เช่น มาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วถือมีความจำเป็นมาก
นอกจากนี้ควรมีมาตรการดูแลต้นทุนภาคการผลิต โดยเฉพาะค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้า ซึ่งส่วนนี้จะช่วยพยุงให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพื่อประคองกำลังซื้อภายในประเทศให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ตลอดจนเตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจ เน้นให้เกิดการจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะใช้แนวทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้องชั่งนํ้าหนักจากหลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อ หนี้ภาคครัวเรือน หนี้เอกชน และยังมีหลายเรื่องที่ต้องชั่งนํ้าหนักให้ดีในการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการและประชาชน นอกจากนี้ต้องเร่งดึงดูดการลงทุน FDI ให้มากและรวดเร็วที่สุด
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 5 มกราคม 2566