สาเหตุ Apple เขย่าตลาด โลกไร้บริษัทมาร์เก็ตแค็ปเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์
มูลค่าตลาดของ Apple ที่ร่วงต่ำกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต้นสัปดาห์นี้เป็นที่โจษจันและสั่นสะเทือนตลาดหุ้นและธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก
วันที่ 4 มกราคม 2566 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ดีดกลับมาแตะ 2 ล้านล้านดอลลาร์อีกครั้ง ช่วงแรก ๆ ของการเปิดตลาด หลังราคาหุ้น Apple Inc. ลดลงอย่างต่อเนื่องและเพิ่งหลุดมาร์เก็ตแค็ป ตั้งแต่วันอังคารที่ 3 ม.ค. ตามเวลาสหรัฐ
ราคาปิดตลาดของหุ้น Apple วันอังคารที่ 3 ม.ค. 2023 อยู่ที่ 125.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ลดลง 3.74% ซึ่งนับเป็นราคาปิดตลาดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 (พ.ศ. 2564)
จังหวะดังกล่าวทำให้มาร์เก็ตแค็ปของ Apple เหลือ 1.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้โลกไม่มีบริษัทมาร์เก็ตแค็ปเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปโดยปริยาย
ก่อนหน้านี้ ยักษ์เทค Microsoft Corp. และยักษ์น้ำมัน Saudi Aramco สูญเสียมูลค่าหลักทรัพย์และหลุดจากกลุ่มบริษัทที่มูลค่าหลักทรัพย์เกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อปี 2022 กระทั่งมาถึงคิวของแอปเปิล
เหตุที่ราคาหุ้นแอปเปิลร่วงกราวลง เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับทั้งอุปทานและอุปสงค์ของ iPhone ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปี นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในเรื่องการบรรเทาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
จากสูงสุดสู่สะดุดอย่างจัง :
บลูมเบิร์ก รายงานว่า ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2022 หุ้นบริษัทแอปเปิลทำผลงานได้ดีกว่าดัชนี S&P 500 และในปี 2022 ช่วงที่ดัชนี S&P 500 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หุ้นของแอปเปิล ก็พุ่งขึ้นในช่วงสั้น ๆ จนมีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ผลงานที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยมาสะดุดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนสิ้นปี ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าปัญหาการผลิตไอโฟนในประเทศจีนที่ผลิตได้น้อยกว่ากำหนดจะส่งผลต่อยอดขายในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการขายที่สำคัญที่สุดของบริษัท
เดือนธันวาคม 2022 นอกจากไม่ดีแล้วยังกลายเป็นเดือนที่แย่ที่สุดของแอปเปิลในรอบ 2 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 เป็นต้นมา โดยราคาหุ้นลดลง 12% ซึ่งลดมากกว่าดัชนี Nasdaq 100 ที่ลดลง 9%
เมื่อดูภาพกว้างออกไป ในปี 2022 บริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุด 4 บริษัทของสหรัฐ (google, Amazon, Meta และ Apple) สูญเสียมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และยอดขายที่โตในอัตราชะลอลงในช่วงการระบาดของโควิด-19
อุปทานฟื้นแต่หวั่นอุปสงค์ :
สำหรับปัญหาด้านการผลิตของแอปเปิล นั้น อย่างที่เป็นข่าวมาให้เห็นให้ได้ยินมาหลายเดือนแล้วว่า Apple ประสบปัญหาอุปทานหยุดชะงักอันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศจีนมาเป็นเวลาหลายเดือน
เดือนพฤศจิกายน 2022 คนงานหลายพันคนของ Foxconn Technology Group พันธมิตรด้านการผลิตของ Apple ลางานแล้วรีบหนีออกจากโรงงาน และมีการรวมกลุ่มประท้วง เพราะไม่อยากถูกกักตัวในพื้นที่โรงงาน
แต่ตอนนี้ปัญหาการผลิตหยุดชะงักได้ผ่อนคลายลงแล้ว เพราะเมื่อเดื่อนธันวาคม Foxconn ได้ยุติข้อจำกัดส่วนใหญ่และได้เสนอสิ่งจูงใจเพิ่มเติมให้ทั้งพนักงานใหม่และพนักงานปัจจุบัน
ปัจจุบัน Foxconn ได้ฟื้นการผลิตของโรงงานในนครเจิ้งโจว ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่า ‘iPhone City’ ให้กลับมาทำการผลิตแล้วประมาณ 90% ของกำลังการผลิต
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีคาดการณ์ด้านลบจาก Murata Manufacturing Co. ซัพพลายเออร์อีกรายของ Apple ที่คาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า แอปเปิลจะลดแผนการผลิต iPhone 14 ลงอีกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“เมื่อพิจารณาจากการวางจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในร้านค้า ผมเห็นว่าการปรับลดกำลังเกิดขึ้น” โนริโอะ นากาจิมะ (Norio Nakajima) ประธานบริษัท Murata Manufacturing Co. กล่าว
รายงานวิเคราะห์ของ CNBC มองถึงปัจจัยอุปสงค์เช่นเดียวกัน ว่า นักลงทุนของวอลล์สตรีทกังวลอย่างมากที่แอปเปิล รวมถึงเทสลา กิจการรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของอเมริกา ต้องพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ราวกับเป็นหัวใจและปอดของทั้งสองบริษัท
วิลล์ หว่อง ผู้จัดการแผนกวิจัย บริษัท IDC ให้ความเห็นกับซีเอ็นบีซี ว่าความท้าทายตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่อุปทาน แต่เป็นอุปสงค์ เพราะเมื่อจีนเปิดประเทศ บรรดาลูกค้าระดับไฮเอนด์อาจหันไปใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว หรือทุ่มให้กับสินค้าด้านการแพทย์มากกว่า และกลายเป็นความท้าทายในระยะสั้น
ความท้าทายในตลาดจีนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ้นของแอปเปิลร่วง เพราะรายได้ 17% ของแอปเปิลมาจากจีน ส่วนเทสลาพึ่งพารายได้ในตลาดจีนถึง 23%
ระทึกรายได้ไตรมาส 4 :
ทั้งนี้ รายได้จากการขายไอโฟนนั้นคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของแอปเปิล การขายไอโฟนน้อยลงก็ย่อมหมายถึงรายได้ของบริษัทที่จะลดลง
Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ว่า แอปเปิลแจ้งให้ซัพพลายเออร์หลายรายลดการผลิตชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์บางอย่างลง รวมถึง AirPods, Apple Watch และ MacBooks เนื่องจากความต้องการซื้อลดลง ซึ่งหากเป็นจริง ก็หมายความว่ารายได้จากการขายสินค้าหลายอย่างของแอปเปิลจะลดลง
Apple คาดว่าจะส่งรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสล่าสุด (ตุลาคม – ธันวาคม 2022) ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งไตรมาสดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาที่บริษัทขายสินค้าได้มากที่สุดของปี
ตามประมาณการที่รวบรวมโดย Bloomberg นักวิเคราะห์คาดการณ์รายรับขั้นต้นของแอปเปิลในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ไว้ว่าจะอยู่ที่ 122,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องรอดูว่าผลประกอบการที่ออกมาจะดึงราคาหุ้นกลับขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ปัจจัยแห่งความหวัง :
ส่วนปัจจัยที่จะเป็นตัวหนุนการประเมินมูลค่า (valuation) ของแอปเปิลให้ฟื้นกลับไปยืนในจุดที่เคยอยู่ ก็คือ ความหวังว่าในอนาคต Apple ยังคงมีโอกาสการเติบโตที่สำคัญรออยู่ข้างหน้า โดยมีธุรกิจบริการ (หลัก ๆ คือ iCloud) เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในปัจจุบันรายได้จากธุรกิจบริการคิดเป็นกว่า 20% ของรายได้รวม มากเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงไอโฟนเท่านั้น
นอกจากนั้น Apple กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ๆ มีโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา เช่น ชุดหูฟังที่ชื่อว่า mixed-reality headset และรถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะมีผลต่ออนาคตข้างหน้าของแอปเปิลมากทีเดียว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 มกราคม 2566