เงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งผลต่อไทยและโลกอย่างไร เพราะอะไรจึงต้องจับตามอง
ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ในพื้นที่ข่าวเศรษฐกิจจะมีข่าวว่า “จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ”
ทั้งนักลงทุน นักการเงิน ผู้กำหนดนโยบายภาคการเงิน นักกลยุทธ์ นักวิเคราะห์ นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ล้วนบอกว่า "ต้องจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ"
หลายคนทราบอยู่แล้วว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาส่งผลต่อประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอย่างไร แต่เชื่อว่าคนที่ไม่ทราบมีจำนวนมากกว่า “ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้กันว่า เงินเฟ้อของสหรัฐฯ สงผลต่อไทยและโลกอย่างไร ทำไมเราถึงได้ยินคำว่า “จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ” กันทุกเดือน
ซึ่งคำอธิบายว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งผลต่อไทยและโลกอย่างไร ต้องย้อนกลับไปเริ่มอธิบายเรื่องเงินเฟ้อ และกลไกการแก้ปัญหาเงินเฟ้อว่าเขาแก้กันอย่างไร
เงินเฟ้อ คืออะไร :
“เงินเฟ้อ” (inflation) หมายถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเป็นเงินเฟ้ออ่อน ๆ ถือว่าดี เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การใช้สอย แต่ถ้าเงินเฟ้อสูงมาก จะเริ่มสร้างปัญหาให้ภาคครัวเรือนที่ต้องประสบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
เงินเฟ้อมีหลายรูปแบบและมีชื่อเรียกตามสาเหตุของการเกิด และตามสภาวะเศรษฐกิจขณะเกิดภาวะเงินเฟ้อนั้นๆ ขึ้น
อย่างเช่นคำว่า reflation คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการสูงกลับขึ้นมาหลังจากที่ลดต่ำลงไปก่อนหน้านั้น มักเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติ ซึ่งส่วนมากเป็นผลจากการที่รัฐใช้นโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)
อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยในปี 2565 ก็คือคำว่า stagflation หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว คนไม่มีเงิน กำลังซื้อลด การลงทุนและการจ้างงานไม่โต
สาเหตุของการเงินเฟ้อมี 2 สาเหตุหลัก คือ
(1)ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ผู้ขายและผู้ให้บริการปรับเพิ่มราคาขึ้น สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “เงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์” หรือ “demand-pull Inflation”
เงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์ มักจะเกิดในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตดี มีเงินในระบบมากเศรษฐกิจมาก คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย มีการลงทุน เศรษฐกิจร้อนแรง
(2)ต้นทุนการผลิตและการให้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการปรับราคาให้สูงขึ้น สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบบนี้เรียกว่า “เงินเฟ้อที่เกิดจากแรงผลักของต้นทุน” หรือ “cost-push inflation”
เงินเฟ้อแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตดี หรือในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการบริการเป็นหลัก อย่างเช่น ราคาธัญพืชพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน ทุกประเทศที่ใช้ธัญพืชได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี
นอกจากนั้น ถ้าเงินเฟ้อเกิดขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วยังไม่ลด ก็อาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกประเภทหนึ่ง คือ เงินเฟ้อที่เป็นผลจากการคาดการณ์ (buit-in inflation หรือ self-fulfilling inflation) เงนเฟ้อแบบนี้เกิดจากการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้นอีก คนทำงานจึงเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้าง แล้วฝั่งผู้ขายสินค้าก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก หรืออีกกรณีคือ ผู้บริโภคเห็นว่าสินค้ามีราคาสูงขึ้น แล้วกังวลว่าในอนาคตจะสูงขึ้นอีก จึงซื้อสินค้ามาตุน ส่วนฝั่งผู้ขายก็เห็นว่าผู้บริโภคก็ยังมีกำลังซื้ออยู่ จึงยิ่งขึ้นราคาสินค้าขึ้นไปอีก
กลไกแก้ปัญหาเงินเฟ้อ :
เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ อย่างเป้าหมายเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบันอยู่ที่ 2% แต่ปี 2022 ที่ผ่านมาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงกว่าเป้าหมายไปมาก โดยต่ำสุดที่ 7% ในเดือนมกราคม และสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี
กลไกสำคัญที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาเงินเฟ้อใช้กันเป็นสากลก็คือ ธนาคารกลางของประเทศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงิน เพื่อไปกดดันให้ผู้คนลดการจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจลดการลงทุน
กลไกนี้อยู่บนหลักการ-การคาดการณ์ว่า เมื่อต้นทุนทางการเงินสูง จะกดให้การใช้จ่ายน้อย ราคาสินค้าและบริการก็จะปรับลดลงตาม ซึ่งทั้งโลกใช้กลไกเดียวกันนี้เป็นหลัก
แล้วเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือ
1)ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ เนื่องจากความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น
2.)ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
3)ผลิตภัณฑ์การเงินของสหรัฐฯ อย่างพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ที่ออกใหม่จะให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามการเคลื่อนไหวอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวอ้างอิงการกำหนดอัตราผลตอบแทน ทำให้ตราสารหนี้เก่า ๆ ในตลาดมีค่าน้อยกว่า ส่งผลให้อาจเกิดเทขายตราสารหนี้ที่ถือกันอยู่ เพื่อนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกใหม่ นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้
4)ถ้าดอกเบี้ยสูงมาก นักลงทุนจะเคลื่อนย้ายเงินที่ลงทุนในหุ้นไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น
5)ต้นทุนการดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจลดการใช้เงิน-ลดการลงทุน (อาจรวมถึงการลดการจ้างงาน ลดหรือไม่ขึ้นค่าจ้าง) เมื่อเงินฝืดหรือมีการใช้เงินน้อยลง สินค้าก็จะปรับลดราคาลง
6)อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลกระทบนี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบท ณ ช่วงเวลานั้น ๆ สถิติตั้งแต่ปี 1960 ถึงปัจจุบัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 11 ครั้ง ส่วนใหญ่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงไปถึง 8 ครั้ง และในครั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็กังวลกันว่าจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง
ทั้งนี้ สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย สะเทือนไทยและทั้งโลก :
มาถึงคำอธิบายว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลมาถึงไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างไรบ้าง
การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลต่อไทย (และประเทศต่างๆ ) ผ่าน 3 ช่องทาง คือ
1)ตลาดเงินตลาดทุน : นักลงทุนมองหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด จึงมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปตามอัตราดอกเบี้ย และปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งประเมินว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี
เมื่อการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าไปลงทุนในสหรัฐฯ แทน ประเทศไหนมีนโยบายทางการเงินในทิศทางตรงข้าม และอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มาก ก็มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกมาก
2)อัตราแลกเปลี่ยน : ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย เงินลงทุนไหลไปสหรัฐฯ มาก ความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐจะมาก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็จะแข็งขึ้น แปรผันให้ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินของประเทศอื่น ๆ อ่อนลง สำหรับประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ค่าเงินของประเทศนั้นจะแข็งค่ามากขึ้นตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศนั้นสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และส่งออกได้น้อยลง ซึ่งจะชะลออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในที่สุด
3)การค้า : ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จะสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ แล้วส่งต่อไปยังราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย และในทางกลับกัน การส่งออกจะได้รับผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็คือ อุปทาน (demand) จากสหรัฐฯ อาจจะลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหหรัฐฯ น้อยลงด้วย
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนว่าเป็นแบบคงที่หรือแบบลอยตัว การเชื่อมโยงทางการค้ามากหรือน้อยเพียงใด และความเปราะบางของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมา :
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปี 2565 ที่เห็นแล้ว คือ
เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงมาก เหมือนกับอีกหลาย ๆ สกุลเงินทั่วโลก โดยเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงในเดือนเมษายน แล้วอ่อนอย่างต่อเนื่อง จนอ่อนค่าที่สุดในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 38.4745 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงอัตราขายถัวเฉลี่ย ของ ธปท.) คิดเป็นอ่อนค่าลง 14.13 % เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.7119 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่ตามมาเมื่อค่าเงินบาทอ่อนมากก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองของประเทศ (เงินสำรองระหว่างประเทศ – International Reserves) ออกมาพยุงค่าเงินบาท ทำให้ทุนสำรองของไทยลดลง
เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 245,812.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 33,344.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11.94% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งจำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 279,156.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก และเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมเราถึงได้ยินคำว่า “จับตามองเงินเฟ้อสหรัฐฯ” กันบ่อยๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 มกราคม 2566