ทำไมจำนวนประชากรลดลง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สะเทือนเศรษฐกิจจีน
ทำไมจำนวนประชากรจีนที่ลดลงเล็กน้อยจึงเป็นเรื่องใหญ่ ถูกวิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และสะเทือนเป้าหมายของสี จิ้นผิง ที่จะพาจีนแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นไปเป็นประเทศที่มี “ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก”
หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลง และเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” (aging society) ซึ่งนำความท้าทายมากมายมาสู่ประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฟินแลนด์ เยอรมนี ฯลฯ รวมทั้งไทย
ประเทศจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,400 ล้านคน ก็เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่จำนวนคนแก่กำลังเพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนคนหนุ่มสาวที่น้อยลง
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) เพิ่งเปิดเผยข้อมูลประชากรจีนในปี 2565 ว่า จำนวนประชากรจีนลดลง 850,000 คน จากจำนวน 1,412.6 ล้านคนในปี 2564 เหลือ 1,411.8 ล้านคนในปี 2565 เนื่องจากจำนวนการเกิดน้อยกว่าจำนวนการเสียชีวิต โดยมีคนเกิด 9.56 ล้านคน ขณะที่คนเสียชีวิต 10.41 ล้านคน ถือเป็นปีที่จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ
ประชากรลดเป็นปัญหาใหญ่ของจีน :
อัตราการเกิดของประเทศจีนลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนมาถึงจุดที่ต่ำจนเป็นประวัติการณ์ แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ตระหนักและเตรียมการสำหรับแก้ปัญหานี้มากว่า 10 ปีแล้ว โดยเมื่อปี 2558 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่ใช้ควบคุมจำนวนประชากรมานานเกือบ 40 ปี แทนที่ด้วยการประกาศนโยบาย “ลูกสองคน” และถึงขั้นออกนโยบาย “ลูกสามคน” เมื่อปี 2564
ถึงอย่างนั้น การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวก็ส่งผลให้จำนวนการเกิดเพิ่มขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยนโยบาย “ลูกสองคน” ที่ประกาศใช้ในปี 2558 ส่งผลให้ในปี 2559 มีเด็กเกิด 17.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.6% ของค่าเฉลี่ยจำนวนการเกิดในช่วงปี 2554-2558 แต่ในปี 2560 ก็ชะลอลงเป็น 17.23 ล้านคน และเหลือ 15.23 ล้านคนในปี 2561 แล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง จนน้อยที่สุดในปี 2565 จำนวน 9.56 ล้านคน
จำนวนประชากรที่ลดลง และจำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เป็นปรากฏการณ์สำคัญของจีนที่ถูกวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะเป็นปัจจัยคุกคามและสร้างผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และสะเทือนเป้าหมายอันทะเยอทะยานของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ตั้งเป้าจะพาจีนแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นไปเป็นประเทศที่มี “ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก”
ทำไมจำนวนประชากรจึงสำคัญต่อเศรษฐกิจจีน :
ทำไมจำนวนประชากรที่ลดลงในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจึงสำคัญสำหรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนขนาดนั้น?
คำตอบไม่ใช่แค่เพราะจำนวนประชากรลดลง แต่ที่สำคัญกว่าจำนวนประชากร คือ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จีนกำลังอยู่ในยุคที่มีคนสูงวัยมากขึ้น มีคนวัยกำลังแรงงานน้อยลง และมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้นไปอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลที่ทางการจีนเพิ่งแถลงออกมา ในปี 2565 คนวัยทำงานของจีนคิดเป็นสัดส่วน 62% ของประชากร ลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้านั้น ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าแนวโน้มนี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่รอจีนอยู่ข้างหน้า
ในอดีตที่ผ่านมา จีนใช้เวลา 3 ทศวรรษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นโรงงานของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และพัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างขึ้นไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงที่กำลังข้ามเส้นแบ่งขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูง
ที่จีนทำได้แบบนั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็เพราะในช่วงเวลานั้นจีนมีประชากรมาก และเป็นประชากรวัยกำลังแรงงาน ทำให้จีนมีจุดขายเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก และเมื่อคนมีงานทำมากก็มีรายได้-มีกำลังจับจ่ายใช้สอยมาก
แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนเจริญขึ้น สิ่งที่ตามมากลับสร้างปัญหาที่น่ากังวลให้จีนเป็นอย่างมาก คือ คนมีลูกน้อยลง ขณะที่คนสูงวัยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น นำมาสู่โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) สัดส่วนประชากรสูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) ของจีนจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และตามคาดการณ์ของ World Economic Forum คาดการณ์ไประยะยาวกว่านั้นว่า ประชากรสูงวัย (อายุมากกว่า 65 ปี) ของจีนจะเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยทำงานใน พ.ศ. 2623 (ค.ศ. 2080)
การที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวน้อยลงจะทำให้จีนมีคนวัยทำงานไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย จีนอาจจะไม่สามารถใช้จุดขายเรื่องการมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากดึงดูดธุรกิจเข้าไปลงทุนได้เหมือนในอดีต เนื่องจากการมีประชากรน้อยลงน่าจะทำให้ต้นทุนค่าแรงในประเทศจีนสูงขึ้น
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย จะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีลดลงมหาศาล เงินสมทบเข้าระบบบำนาญก็จะลดลงอย่างมหาศาลเช่นกัน และจะเป็นงานยากสำหรับรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับด้านสาธารณสุขและสวัสดิการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความกดดันต่อเศรษฐกิจจีน
อีกทั้ง การมีคนสูงวัยที่เป็นวัยพึ่งพิงมากขึ้น มีคนวัยทำงานหาเงินน้อยลง ก็มีแนวโน้มจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรของจีนน้อยลง ซึ่งหมายถึง “กำลังซื้อ” ภายในประเทศที่น้อยลงไปด้วย
นักวิจัย-นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองถึงขั้นว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะทำให้จีนเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ยี่ ฟู่เจี้ยน (Yi Fuxian) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconssin-Madison) บอกว่า นักวิจัย-นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองถึงขั้นว่า การเกิดที่น้อยลงในจีนอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การผลิตถดถอย การล้มละลายของมหาวิทยาลัย และค่าครองชีพสูงเหมือนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตขึ้นได้ โดยไม่ต้องมีแรงงานมาก?
นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองต่างออกไปว่า การจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนประชากรมากหรือมีแรงงานมากเสมอไป และการที่จีนมีประชากรวัยหนุ่มสาวน้อยลงก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจจะเติบโตไม่ได้
แมรี เลิฟลีย์ (Mary Lovely) นักวิจัยอาวุโสของ Peterson Institute for International Economics แสดงความเห็นกับ VOA ว่า การที่ประเทศจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ได้นั้น ไม่จำเป็นต้องมีแรงงานมากก็ได้เธอบอกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นเครื่องยืนยันที่ดีถึงแนวคิดนี้ แม้ว่าสหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรน้อยกว่าจีน แต่ก็มีขนาดเศรฐกิจใหญ่กว่า
“สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีคือ productivity ที่สูงขึ้น และนั่นคือปัญหา (ที่ทำได้ยาก)”
เธอบอกว่า สิ่งที่จีนจำเป็นต้องทำให้ได้คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (productivity) ให้มากขึ้นโดยใช้แรงงานน้อยลง จีนจำเป็นต้องผลักดัน productivity ให้สูงขึ้นให้ได้ ซึ่งรัฐบาลจีนก็ตระหนักและได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้วในระดับหนึ่ง และปัจจุบันจีนก็เป็นผู้นำระดับโลกในด้านการใช้ระบบอัตโนมัติในโรงงาน
จีนมีความท้าทายอีกมากมายที่อาจบั่นทอนเศรษฐกิจ :
แม้จะมองว่าเศรษฐกิจโตได้โดยไม่ต้องมีแรงงานจำนวนมาก แต่แมรี เลิฟลีย์ นักเศรษฐศาสตร์คนเดิมแสดงความเห็นอีกว่า ปัญหาใหญ่ของจีนคือเรื่องการแบ่งสรรปันสัดส่วนการลงทุน ซึ่งเธอมองว่าควรกระจายโอกาสการลงทุนไปสู่เอกชนมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน ภาครัฐมีส่วนแบ่งในการลงทุนมาก และภาคเอกชนมีส่วนแบ่งการลงทุนลดลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนจะบอกว่า สภาพแบบนี้จะไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะในอดีตที่ผ่านมา การลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิผล (productive) น้อยกว่าภาคเอกชนมาโดยตลอด
แต่เธอก็บอกอีกว่า ถึงแม้ว่าจีนจะแบ่งสรรปันส่วนให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะส่งผลให้รายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนกำลังเผชิญกับปัญหาการพัฒนาทุนมนุษย์ ประชาชนจีนมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน คนชนบทยังคงด้อยการศึกษาและไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพและบริการการสนับสนุนทางสังคม อีกทั้ง จีนยังไม่มีระบบที่เข้มแข็งพอสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วด้วย
ในบทความที่ เผิง ซิ่วเจี้ยน (Xiujian Peng) นักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (Victoria University) ในออสเตรเลีย เขียนให้ World Economic Forum วิเคราะห์อนาคตของจีนว่า จีนจำเป็นต้องจัดหาทรัพยาการผลิตมากขึ้น เพื่อที่จะให้บริการด้านสุขภาพ การแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ อย่างเพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น
จากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ของศูนย์นโยบายศึกษา (Center of Policy Studies) ของมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญของจีน จีนจะต้องจ่ายเงินบำนาญเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าใน 80 ปีข้างหน้า จากที่ต้องจ่าย 4% ของจีดีพีในปี 2020 จะเพิ่มเป็น 20% ของจีดีพีในปี 2100
เผิง ซิ่วเจี้ยน เขียนวิเคราะห์ในบทความอีกว่า แม้จะมีการคาดการณ์ว่าศตวรรษนี้จะเป็น ‘ศตวรรษของจีน’ แต่การคาดการณ์จำนวนประชากรของจีนบ่งชี้ว่า ความทรงอิทธิพลอาจเคลื่อนย้ายไปที่อื่น รวมถึงเพื่อนบ้านของจีนอย่างอินเดีย ซึ่งคาดว่าจำนวนประชากรจะแซงหน้าจีนในทศวรรษหน้านี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 มกราคม 2566