หอการค้าฯ จับมือ รัฐ-เอกชนยกระดับเกษตรกร-ผปก.อุตสาหกรรมยาง
หอการค้าฯ จับมือ รัฐ-เอกชน ยกระดับเกษตรกร-ผปก.อุตสาหกรรมยางเปิดตัวโครงการ CARE ให้แข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างนยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราและสินค้ายางพารา เป็นอันดับ 1 ของโลก มีเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งหมด 6 ล้านคน พื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ มูลค่าการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารามากกว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงของทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะมีส่วนช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง
ด้วยการส่งเสริมสินค้าและการบริหารจัดการตามแนวคิด BCG ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการส่งออกสินค้ายางพาราของไทย รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารการเงิน การจัดหาเงินทุน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทุกระดับภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมอื่นของประเทศที่ต้องอาศัยเครือข่ายในการขยายผลให้ครอบคลุมทุกซัพพลายเชน
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหอการค้าฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ผ่าน 3 แนวทางขับเคลื่อนหลักขององค์กรที่ประกอบด้วย ด้านการค้า การลงทุน ด้านเกษตรและอาหาร และด้านการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งนี้ ในด้านการเกษตร หอการค้าไทยมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรให้สามารถเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งไปพร้อมกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ
และเอกชน ในการสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน ดังนั้น โครงการ CARE ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือ และส่งเสริมแนวทางความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะยางพาราที่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถแปรรูปและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก และถือเป็นพืชเศรษฐกิจสีเขียว (Green commodity) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทาง BCG Model และ Sustainable ที่เป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
“หอการค้าฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน โครงการ CARE ที่จะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและประเทศไทย ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเชื่อว่าความร่วมมือกันของทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกแห่งหนึ่งของโลกได้
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ความร่วมมือในภาครัฐบาลคู่ขนานกับภาคเอกชนในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในมิติต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุนของผู้ประกอบการทั้งระดับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยางพาราที่จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อ วงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาท -5 ล้านบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ด้วยการใช้ Transaction Based เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้เติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางมากกว่า 9,600 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมมากกว่า 18,000 ล้านบาท สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้ประมาณ 500 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ และขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่นต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการ CARE (Capital Flow in Rubber Industrial Estate) จะมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของของอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 20 มกราคม 2566