สงครามรัสเซีย - ยูเครนกับ3 วิกฤตกระทบเศรษฐกิจโลก(ตอนจบ)
3 วิกฤตกระทบเศรษฐกิจโลก ผลพ่วงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้ง อาหาร-พลังงาน-เงินเฟ้อ ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.7% ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง333วัน ว่าการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 333 วัน ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงพัฒนาการความขัดแย้งที่สำคัญตลอดช่วงระยะเวลา 333 วัน ได้เกิด3วิกฤติที่กระทบกับเศรษฐกิจโลก โดย3วิกฤตดังกล่าวประกอบด้วย
(1)วิกฤตอาหาร ผลพวงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารโลกและทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง เนื่องจากรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกหลายชนิด อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน และข้าวบาร์เลย์ การส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดโลกได้ลดลง
นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรก็ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร ทำให้มากกว่า 30 ประทศประกาศระงับการส่งออกสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2565 ดัชนีราคาอาหารโลกอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 14.3% จากปีก่อน
(2)วิกกฤตพลังงาน การจำกัดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียตามมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของชาติตะวันตก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะกระทบต่ออุปทานของการผลิตน้ำมันทั่วโลก เพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก
โดยราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงในการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ภาคการขนส่ง และภาคการผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบ อีกทั้งส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่รัสเซียระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ยังส่งผลให้ประเทศในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเผชิญความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพลังงาน ทั้งนี้ ธนาคารโลกรายงานข้อมูลดัชนีราคาพลังงานโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 60% โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 40.6% และราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 65.4%
(3)วิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เป็นแรงผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผ่านราคาพลังงานและอาหาร ทำให้ต้นทุนสินค้าบริการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มจาก 4.7% ในปี 2564 เป็น 8.8% ในปี 2565 ซึ่งผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนของภาคการผลิตและการลดใช้จ่ายของผู้บริโภค และนำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรัสเซีย-ยูเครนวิกฤตการณ์ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกตลอดระยะเวลา 333 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่รัสเซียเข้าไปปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และยังส่งผลกระทบสืบเนื่องมาจนถึงขณะนี้
โดยธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 5.9% ในปี 2564 และต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนที่ 4.1% และนับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บ่งชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตโลกจนถึงเดือน ธ.ค. 65 ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในภาวะหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน และสอดคล้องกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.7% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หากไม่นับวิกฤตการเงินโลกในปี 2552 และปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขณะที่การค้าโลกที่จะขยายตัวเพียง 1.6%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง หรือพึ่งพาการส่งออกมาก อย่างเช่นไทยที่การส่งออกสินค้าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 65 เช่นเดียวกับประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง และตราบใดที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังยังคงดำเนินต่อไป ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้อ่อนแอลงไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 24 มกราคม 2566