เอกชนมองนายกฯกำหนดยุบสภา-เลือกตั้ง สร้างความชัดเจน
หอการค้าไทยชี้นายกฯประกาศยุบสภา เลือกตั้ง ทำให้ภาพการเมืองไทยชัดเจนมากขี้น เชื่อ เลือกตั้งทำเงินสะพัดระบบเศรษฐกิจ ด้านสภาอุตฯ หวังช่วงเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจเป็นไปด้วยดี ระบุอยากได้รัฐบาลที่รับฟังและเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ ไม่คอร์รัปชัน มีศักยภาพและวิสัยทัศน์ผู้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ จะประกาศยุบสภาต้นเดือน มี.ค.เลือกตั้ง 7 พ.ค. ดีที่มีการประกาศ วันเลือกตั้งที่ชัดเจน เพื่อที่ทั้งนักการเมือง และภาคธุรกิจจะได้มีการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐบาลจะได้พิจารณาประเด็นที่ยังค้างอยู่ให้เรียบร้อย
สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจ ในช่วงการเลือกตั้งก็เชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนระหว่างนี้เยอะพอสมควรตามที่ ม.หอการค้าไทยได้ประเมินไว้ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลก็เชื่อว่าไม่กระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวมาก เพราะแผนงานต่างๆ ก็กำลังเดินหน้าได้ดี ปีนี้ทั้งการท่องเที่ยวที่ได้จากการเปิดประเทศของประเทศจีนมาเสริม และการดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพและมั่นคง มีผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะเสริมคือ อยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้มีการใช้และพิจารณางบประมาณให้ทัน รวมถึง จะได้มี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะต่อไป โดยเฉพาะ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นต้น
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่นายกประกาศชัดเรื่องวันเลือกตั้งและกรอบเวลาการยุบสภานั้น มองว่าส่งผลดีต่อภาคเอกชนเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเป็นเรื่องที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจมากนัก
ทั้งนี้ ในช่วงรอยต่อราว 3-4 เดือน ระหว่างที่รัฐบาลเก่ายุบสภาและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะกลายเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองนั้น ถือว่าน่าเป็นห่วงในแง่ของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก แม้อันที่จริงสุญญากาศก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการไม่เข้าประชุมสภาและลาประชุม ครม.
อย่างไรก็ตาม เอกชนยังเดินหน้าต่อได้และไม่มีอะไรติดขัด ในระหว่างที่มีรัฐบาลรักษาการที่คงไม่มีการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ทั้งยังคาดว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้งและการประกาศนโยบายของแต่ละพรรคจะมีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่น่าเป็นกังวลคือเหตุการณ์บิ๊กเซอไพร้ส์ในช่วงของการเปลี่ยนขั้วอำนาจ จึงคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปตามกติกา เคารพในผลการเลือกตั้งและไม่มีการแทรกแซง
“รัฐบาลที่เอกชนคาดหวังคือรัฐบาลที่รับฟังเสียงของประชาชนและเข้าใจปัญหา มองเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักที่ต้องเร่งฟื้นฟู เป็นรัฐบาลที่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ จะสร้างความหวังและความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ต้องไม่มีการคอรร์รัปชัน ทุจริต รวมทั้งมีศักยภาพและวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566