สภาหอฯจัดทัพเอกชน ถก 23 บริษัทยักษ์มะกัน ขยายค้า-ลงทุนครั้งใหญ่
สภาหอการค้าฯ จัดทัพ เอกชนไทยร่วมประชุม Trade Winds ถก 23 บริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐใน 10 สาขา ขยายการค้า การลงทุนรอบใหม่ ดันสตาร์ทอัพไทยนำเสนอผลงาน หวังเข้าตากรรมการขอร่วมทุน
วันที่ 13 -15 มีนาคม 2566 นางมาริสา ลาโก (Ms. Marisa Lago) ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา จะนำคณะนักธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กว่า 100 แห่ง มาประชุม Trade Winds ที่กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ
โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุ การประชุม Trade Winds ครั้ง นี้จะเป็นเวทีการค้าที่มีคณะผู้แทนทางการค้านำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เดินทางมาร่วมประชุมคณะที่ใหญ่ที่สุด จากในการประชุม Trade Winds ที่ผ่านมาทั้ง 12 ครั้ง ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างข้อตกลงทางการค้ามากมาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย มีกำหนดการกล่าวปาฐกถาต่อคณะนักธุรกิจจากสหรัฐฯ ในวันที่ 13 มี.ค. 66 ด้วย ขณะที่ภาคเอกชนของไทยมีความเคลื่อนไหว ในการเตรียมเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ และมีความคาดหวังอย่างไรบ้างนั้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประชุม Trade Winds Trade Mission and Business Development Forum ในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม ที่ กรุงเทพฯ โดยในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีกำหนดจัดงาน The one-on-one meetings with U.S. companies ณ โรงแรม Avani Plus Riverside ถนนเจริญนคร กรุงเทพฯ
สำหรับวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ เพื่อพบปะหารือธุรกิจระหว่างบริษัทจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 23 บริษัท ที่ต้องการจะขยายโอกาสทางธุรกิจกับบริษัทของไทยที่สนใจ ใน 10 สาขาธุรกิจ จากบริษัทสหรัฐอเมริกาได้แก่ 1.Agribusiness, Packaging, Food Processing 2.Beauty Products & Personal Care 3.Food Supplements 4.Medical Device & Hospital 5.ICT 6.Environmental Technologies 7.Chemicals Sector 8.Plastic 9.Renewable Energy และ 10.Oil & Gas
ทั้งนี้ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะมีสมาชิกเข้าไปร่วมหารือด้วยในกลุ่มต่าง ๆ โดยจะเน้นไปยังสมาชิกกลุ่ม SMEs ที่จะเชื่อมกับทางสหรัฐฯ
“ในงานนี้ ยังไม่มีแผนที่จะลงนาม MOU เพิ่มเติม เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนครบรอบความสัมพันธ์ 185 ปี สภาหอการค้าฯ ก็ได้มีการลงนามไปแล้ว กับ U.S. Chamber of Commerce โดยมีการประชุมและ แลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงกิจกรรมสัมมนาร่วมกัน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ครั้งนั้นมองคือ พลังงาน บริการ นวัตกรรม IT การศึกษา การแพทย์ และ สุขภาพ มาครั้งนี้ก็อยู่ในกรอบความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชนทั้ง 2 ประเทศ”
สำหรับในวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ทางสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้เรียนเชิญประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วมพบปะคณะนักธุรกิจจากสหรัฐฯ ในงานเลี้ยงรับรอง Trade Winds Reception เวลา 18.00 น. ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยสถานทูตฯ ได้มีการเชิญผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย ประมาณ 100 ท่านเข้าร่วม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสัมมนา Select USA Tech Seminar ในวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในเอเชีย-แปซิฟิก จะได้รับข้อมูลและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นธุรกิจในสหรัฐฯ และในวันที่ 15 มีนาคม บริษัท Startup ไทย จะได้นำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการเพื่อชิงโอกาสเข้าร่วมและนำเสนอผลงานที่การประชุม SelectUSA Investment Summit ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
“งานนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีความสำคัญต่ออนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นเพื่อน หุ้นส่วน และพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย โดยปีนี้ จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุน และแสดงให้เห็นศักยภาพประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้”
ที่สำคัญคือ หลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 แล้ว กิจกรรมทางการค้า การลงทุน ต่าง ๆ ก็จะกลับมา และหลายประเทศก็อยากดึงการลงทุนไปประเทศตนทั้งสิ้น ซึ่งการเดินทางของ คณะ Trade Winds ครั้งนี้ไม่ได้มาประเทศไทยประเทศเดียว ดังนั้นไทยต้องถือโอกาสนี้สร้างความโดดเด่นและน่าสนใจของประเทศ
อนึ่ง ในปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) มีโครงการขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,070 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 433,971 ล้านบาท โดยสหรัฐฯเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมากสุด จำนวน 33 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 50,296 ล้านบาท ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ จีน 158 โครงการ เงินลงทุน 77,381 ล้านบาท และอันดับ 2 ญี่ปุ่น จำนวน 293 โครงการ เงินลงทุน 50,767 ล้านบาท โดยการลงทุนของต่างชาติส่วนใหญ่อยู่ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง
ส่วนด้านการค้า ปี 2565 สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน (ไม่นับรวมอาเซียน) โดยการค้าไทย-สหรัฐฯมีมูลค่ารวม 2.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.31% โดยไทยส่งออก 1.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.75% และนำเข้า 6.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.57%
สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 12 มีนาคม 2566