สนั่น อังอุบลกุล มอบสมุดปกขาวให้ 10 พรรคการเมือง แก้เศรษฐกิจไทย
หอการค้าไทย เปิดเวทีให้ 10 พรรคการเมือง ตอบข้อซักถามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมมอบสมุดปกขาว ให้กับพรรคการเมือง หลังเป็นรัฐบาลใหม่ให้เป็นแนทางเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทย
วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาของการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยระหว่างเวทีตอบข้อสักถาม “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ว่า คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงาน
โดยหอการค้าจะทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานจากเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ “Connect the Dots” เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนแนวทางการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแต่ละมิติ
รวมทั้ง ผสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ทั้งนี้ ในโอกาสที่ปี 2566 นี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ภาคเอกชนในนามหอการค้าฯ ต้องการที่จะสะท้อนความคิดเห็นของเราในมิติต่าง ๆ ให้กับรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นนี้ขึ้นมา
เพื่อสะท้อนมุมมองข้อเสนอจากภาคธุรกิจต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยตัวแทนของทุกภาคส่วนจะได้นำเสนอข้อคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศ ใน 10 ประเด็นสำคัญ ให้กับพรรคการเมือง ที่จะเป็นว่าที่รัฐบาลได้รับทราบ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อตามความเหมาะสมต่อไป
พร้อมกันนี้ หอการค้าไทย จะมีการจัดทำเป็นสมุดปกขาว มอบแก่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนในเวทีเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำเป็นมาตรการและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนในอนาคตได้ โดยตัวแทนพรรคการเมือง ที่เข้าร่วมเวทีตอบข้อซักถาม มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเสรีรวมไทย
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวระหว่างการนำเสนอภาพรวม “ความสามารถในการแข่งขันของไทยกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยังยืน” ว่า เศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องเผชิญปัญหา ในหลายด้านส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 2.5-3% โดยอัตราการเติบโตควรจะขยายตัวอยู่ที่ 4-5%
ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน การแข่งขันยังเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจไม่เติบโตไปอย่างเป้าหมาย โดยปัญหาที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงหดตัว ประกอบกับเศรษฐกิจโลกก็ยังได้รับผลกระทบ พฤติกรรมการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัญหา
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรที่จะเร่งแก้ไข และพัฒนา ส่งเสริมเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโต โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่พร้อมจะเดินหน้าให้ เศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 มีนาคม 2566