ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ 1 ปี ดันตลาด 3.23 แสนล้าน ดึงนักท่องเที่ยว 1.8 แสนคน
หอการค้าไทยจัดใหญ่สัมมนาโอกาสการค้าซาอุดีอาระเบีย กับหอการค้าไทย Trade-Travel-Investment หลังฟื้นสัมพันธ์ 1 ปี ดันตลาดการค้า 3.23 แสนล้านบาท คาดดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯเข้าไทยได้ 1.8 แสนคน แนะเอกชนจับตานโยบาย VISION 2030 ใช้เป็นโอกาสการค้า-การลงทุน
วันที่ 10 เมษายน 2566 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จํากัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา “เปิดโอกาสการค้าซาอุดีอาระเบีย กับหอการค้าไทย Trade-Travel-Investment” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อเสนอแนะ และโอกาสของภาคเอกชนไทยในการดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกกับซาอุดีอาระเบียในมิติทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 300 คน ณ Event Lab ชั้น 7 อาคาร 23 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงต้นปี 2565 ถือเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของสองประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะภาคการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ส่วนด้านการท่องเที่ยว ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย จำนวน 96,389 คน สร้างรายได้ 8,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถึง 150,000-180,000 คน สร้างรายได้รวมกว่า 12,000 ล้านบาท รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือเป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างก้าวกระโดดหลังจากนี้ต่อไป
นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด กล่าวในตอนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษว่า ซาอุดีอาระเบียสนใจที่จะลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดทำเขตการค้าเสรีของไทยและกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมืออาหรับ (GCC) ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ภูมิภาคแอฟริกาได้
ด้านนายอับดุลเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี (H.E. Mr. Abdulrahman Abdulaziz Alsuhaibani) เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของไทยและซาอุดีอาระเบียมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรสมัยใหม่ ด้านการค้า และด้านการลงทุน
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียได้มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้เกิดความหลากหลาย ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว พร้อมเมกะโปรเจ็กต์เมืองนีออม ภายใต้ชื่อ “The Line” ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้เกิดการลงทุนมหาศาลและสนับสนุนเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียมากขึ้น
สิ่งที่น่าจับตามองคือ ซาอุดีอาระเบียมีความชัดเจนในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ผ่าน VISION 2030 และกำหนด 6 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่
1) เพิ่มสัดส่วนธุรกิจภาคเอกชน จาก 40% เป็น 60% ของ GDP
2) เพิ่มการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันจาก 16% เป็น 50% ของ GDP ที่ไม่รวมน้ำมัน
3) เพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้านวัฒนธรรมและบันเทิงจาก 2.9% เป็น 6%
4) เพิ่ม FDI ให้เทียบเท่าระดับนานาชาติจาก 3.8% เป็น 5.7%
5) เพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้แสวงบุญจาก 8 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน และ
6) สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยทั้งหมดนี้จะเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจไทยที่จะได้แสวงหาโอกาสในการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ซึ่งหอการค้าไทยจะได้ร่วมกับรัฐบาลเชื่อมโยงโอกาสดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับไฮไลต์สำคัญของงานสัมมนาในครั้งนี้คือ การบรรยายถึงโอกาสของธุรกิจไทยในการลงทุนในซาอุดีอาระเบียจากนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), และโอกาสด้านการส่งเสริมท่องเที่ยวจาก นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองของนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญคือ ช่วงที่ 1 กลุ่มธุรกิจอาหาร วัสดุก่อสร้าง และธุรกิจภาคบริการ ได้มีการแชร์ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจกับซาอุดีอาระเบีย โดยมีนางอัมพร กาญจนกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มมิตรผล, นายอบิจิต ดัตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น, คุณศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
และ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา และดำเนินรายการโดย ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บรรยายในหัวข้อบทบาทของ EXIM Bank ในการสนับสนุนผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังซาอุดีอาระเบีย
ด้านนายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ
วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า สำหรับปี 2566 บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยังมีแผนร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงสินค้า Thailand Mega Fair & Festival 2023-The Kingdom of Saudi Arabia เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และศักยภาพของประเทศไทยสู่สายตาชาวซาอุดีอาระเบีย
โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน การหาคู่ค้า และพันธมิตรทางการค้า, ขยายดิสทริบิวเตอร์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปยังประเทศซาอุฯ รองรับความต้องการที่หลากหลายในตลาดซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลาง โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2023 ณ กรุงริยาด และถือเป็นงานแสดงสินค้าและบริการของไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบียอีกด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 เมษายน 2566