"ส.อ.ท.-หอการค้า" ยื่นรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหา EEC ติดหล่ม
หลายพรรคได้หาเสียงเรื่อง EEC ที่แตกต่างกัน แต่ภาคเอกชนต้องเร่งผลักดันโครงการลงทุนที่ทำไปแล้วให้สำเร็จ รวมทั้งต้องการให้เดินหน้าต่อแบบไม่สะดุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่มีหลายพรรคนำมาหาเสียง รวมทั้งนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทั้งพรรคที่ประกาศเดินหน้าต่อตามแนวทางเดิม และการเดินหน้าต่อโดยปรับปรุงเงื่อนไข
รวมทั้งบางพรรคการเมืองส่งสัญญาณลดทอนความสำคัญของโครงการนี้ และสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่อื่น ซึ่งไม่มุ่งเฉพาะ 3 จังหวัดในอีอีซีเท่านั้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับโครงการและนโยบายที่ดีซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าได้ทำไว้ยังควรดำเนินต่อไปให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอีอีซี ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่ต้องเร่งผลักดันให้เดินหน้าต่อตามกำหนดให้เร็วที่สุดและที่ผ่านมาอีอีซีถือเป็นจุดแข็งของไทยและแต้มต่อในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
“ขณะที่นโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองใช้หาเสียง อาจจะมีความเหมือนและความแตกต่างในบางจุด แต่ที่สำคัญคือต้องเร่งโครงการอีอีซีให้สำเร็จ เพื่อดึงดูดการลงทุนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามา รวมทั้งหากเห็นความเหมาะสมในการส่งเสริมโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ในพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถทำได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดการกระจายการลงทุนทั่วประเทศ”
สำหรับมาตรการส่งเสริมลงทุนอีอีซีในขณะนี้ มองว่ามีการดำเนินการที่เหมาะสมและมีความก้าวหน้าจากเดิม แต่สิ่งสำคัญสำหรับเอกชนต่างชาติรวมถึงไทยเองมีความกังวลมากที่สุดเรื่องการสานต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ หากเป็นกลุ่มการเมืองคนละขั้วซึ่งอาจทำให้ขาดความต่อเนื่องเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะไม่คิดอย่างนั้นและนำนโยบายที่ดีสานต่อ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักที่มีมูลค่าลงทุนมหาศาลและจะเพิ่มเติมอะไรที่เหมาะสมก็สามารถทำได้
ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการมาตรการของรัฐเข้ามาพยุงและก้าวต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อีอีซีเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนต่อ โดยที่ผ่านมาได้รวมรวมเป็นข้อเสนอภาคเอกชนยื่นให้กับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมงาน เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และหลังเลือกตั้งต้องการให้ตั้งรัฐบาลได้เร็วเพื่อให้จัดสรรงบประมาณทันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงถือว่ามีความชัดเจนในกรอบเวลาที่จะนำไปสู่การได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปคงต้องขับเคลื่อนในหลายประเด็นที่มีความสำคัญ ดังนี้
1).แผนงานและโครงการของเดิมที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศให้มีความต่อเนื่อง เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
2).แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย BCG Model
3).การขับเคลื่อนอีอีซี และแผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ให้มีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ต้องการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงนโยบายการส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่หอการค้าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะจัด Road Show ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถก่อสร้างในส่วนของเอกชนได้เลยทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 พฤษภาคม 2566