เอกชนจับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกหลังสหรัฐผ่านกม.ขยายเพดานหนี้สาธารณะ
เอกชนกังวลเฟด ขึ้นดอกเบี้ยอีก หลังปลดล็อคปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐ ชี้ กระทบตลาดการเงิน ตลาดทุน ต้นทุนการผลิต กำลังซื้อหด หวั่นกระทบส่งออกไปสหรัฐซ้ำ หลังตัวเลขส่งออกสหรัฐเดือน เม.ย.กลับมาติดลบอีกครั้ง
ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ ได้กลายเป็นความกังวลของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลและสภาล่างของสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อปรับขึ้นเพดานหนี้ได้แล้ว ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเพดานหนี้ภาครัฐ ในช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่่ผ่านมา และเตรียมส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ จึงถือเป็นข่าวดีของเศรษฐกิจโลกในห้วงเวลาที่กำลังเปราะบาง เพราะหากสหรัฐผิดชำระหนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งอย่างแน่นอน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายเพดานหนี้ภาครัฐ ที่ผ่านมาปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐเป็นปัญหามีมาหลายปีแล้ว บางครั้งที่รัฐบาลสหรัฐเกือบต้องชัตดาวน์ ครั้งนี้ก็เช่นกันแต่เมื่อร่างกฎหมายเพดานหนี้ภาครัฐผ่านวุฒิสภาก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะยังคงใช้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะกระทบต่อตลาดการเงิน ตลาดทุน ที่อ่อนไหวไปตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเฟดก็เริ่มผ่อนคลายเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ตลาดการเงิน ตลาดทุน คลายความกังวลไปได้มาก และเริ่มมีการซื้อขายในตลาดมากขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน นอกจากนี้คงต้องดูว่าหลังการผ่านกฎหมายดังกล่าวสหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้างจากนี้ไป
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะที่ผ่านมากำลังซื้อผู้บริโภคสหรัฐลดลง จากเรื่องต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเรื่อยๆและยังไม่รู้ว่าจะหยุดได้เมื่อไร โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนสินค้าคงทนชะลอการซื้อออกไปก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบไปสหรัฐมาก แต่ตอนนี้ยอดส่งออกกลุ่มสินค้าเหล่านนี้ลดลง
“การส่งออกไทยไปสหรัฐเดือนเม.ย.ลดลง คาดว่าเดือนพ.ค.ก็มีแนวโน้มลดลงอีก เพราะยังมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบทั้งเรื่องสต๊อกสินค้าที่ยังคงอยู่และกำลังซื้อที่ลดลง”นายวิศิษฐ์ กล่าว
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ติดตามปัญหาวิกฤตเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เมื่อวุฒิสภาผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังต้องมีการพ่วงข้อเสนอให้รัฐบาลสหรัฐลดการใช้จ่ายในช่วง10ปี ข้างหน้า ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังมีหนี้และดอกเบี้ยที่สูงมากกว่าปี 2011นอกจากนี้ การผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันถูกยกให้มีสถานะเป็นRisk-free Assetหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง
หากสหรัฐฯ จำเป็นต้องผิดชำระหนี้จริงแม้แต่วันเดียว ผลกระทบจะมีความรุนแรงมากในหลายมิติทั้งการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดเงิน และตลาดทุนทั่วโลก และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นอกจากนี้ อาจส่งผลให้สถานะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอาจเปลี่ยนไป รวมทั้ง การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเรทติ้งของสหรัฐ
“วิกฤต‘เพดานหนี้’ของสหรัฐ ได้สร้างความกังวลและความผันผวนของตลาดพันธบัตร ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดเงินโลก ซึ่งหากตลาดมีความกังวลมากจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ต่างประเทศ รวมสินทรัพย์ในตลาดไทย จะเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อโยกเข้าไปที่สินทรัพย์ปลอดภัยในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องลดการใช้จ่ายหรือหยุดการใช้จ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะถดถอย"
เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ผ่านการลดลงของอุปสงค์ต่อการค้าการลงทุน ท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าจากไทยสูงที่สุดเป็นอันดับ1ซึ่งคงต้องจับตาการแก้ปัญหาวิกฤตเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือ”
จากข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย.66 การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ติดลบ 9.6 % มูลค่า 3,230 ล้านดอลลาร์กลับมาติดลบอีกครั้ง ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และความไม่แน่นอนจากปัญหาภายใน ซึ่งสหรัฐถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย หากสหรัฐมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐให้เกิดภาวะถดถอย ฉุดกำลังซื้อภายในประเทศ กระทบการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 มิถุนายน 2566