ปธ.สนั่น ผุดแผนโรดโชว์ "หอค้า-บีโอไอ-อีอีซี" จ่อบุกจีน ดึงนักลงทุน เพิ่มโอกาสโตทุกมิติ
ปธ.สนั่น ชี้ไทย-จีนจับมือเพิ่มโอกาสโตได้ทุกมิติ "หอค้า-บีโอไอ-อีอีซี" เตรียมโรดโชว์ในจีน คาด รบ.จีนอัดเงินกระตุ้น ศก.ใน Q3
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา ในหัวข้อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย ในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเปิดงานในวันที่ 25 มิถุนายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า สำหรับประเด็นที่ทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะได้ฉายภาพบนเวทีของการประชุมนักธุรกิจจีนโลก จะเน้นให้เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความสัมพันธ์ในทุกมิติการประเทศจีน โดยเฉพาะสายใยไทย-จีนที่ตัดไม่ขาด ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาช้านานแล้ว โดยจีนมีความพิเศษและมีความแตกต่างจากความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ผ่าน 4 สายสัมพันธ์ที่แนบแน่น คือ 1).ความสัมพันธ์ทางการทูต 2).ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ 3).ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และ 4).ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
นายสนั่นกล่าวต่อว่า พร้อมเน้นย้ำคงเป็นการชี้ให้เห็นว่าไทยและจีนต่างเกื้อกูลผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นจากด้านการค้าจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2556 ไทยส่งออกจีน 1.19 ล้านล้านบาท อาทิ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ส่วนไทยนำเข้าจีน 2.49 ล้านล้านบาท อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์ แม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จากการนำเข้า แต่ก็ถือเป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) พวกเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ ซึ่งทั้งสองประเทศยังมีโอกาสที่จะขยายการค้าด้วยกันในด้านต่างๆ อีกหลายด้าน
นายสนั่นกล่าวอีกว่า สำหรับด้านการลงทุน เป็นอีกประเด็น หอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับจีนเป็นอย่างมาก เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยถือเป็นประเทศอันดับ 6 ที่จีนเข้ามาลงทุนในอาเซียนซึ่งยังถือว่าไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่ประเทศไทยเรามีความพร้อมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และภูมิศาสตร์ในภูมิภาค เหตุนี้เองหอการค้าฯ และสถานทูตจีน ประจำประเทศไทยจึงได้ร่วมกันตั้งคณะทำงาน Task Force ศึกษาการขยายการลงทุนของประเทศจีนในไทย โดยมีภาควิชาการฝั่งไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝั่งจีน คือมหาวิทยาลัยยูนนาน ว่าอุปสรรคและโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจีนมีอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการเสนอในการเสวนาครั้งนี้ด้วย
“วันนี้ภาพรวมการลงทุนหากเทียบกับประเทศอื่นๆ จีนก็เข้ามามีบทบาทเพิ่มสูงขึ้น จีนลงทุนในไทยโดยรวม เป็นอันดับ 3 มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท รองจากอาเซียน และญี่ปุ่นเฉพาะที่ขอสิทธิประโยชน์ BOI เป็นอันดับ 1 มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท และจีนยังเป็นประเทศอันดับ 1 ในการลงทุน EV Car ในไทย เฉพาะ 3 ค่ายรถ EV จีนที่มาอย่าง BYD, Chanan และ Hozon ที่ลงทุนมาสร้างโรงงานในไทยโดยตรง เงินลงทุนจาก รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท“ นายสนั่นกล่าว
นายสนั่นกล่าวต่อว่า ส่วนภาคการท่องเที่ยว ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ผลการสำรวจกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนอยากมาหลังจากเปิดประเทศมากที่สุด จีนจึงเป็นตลาดสำคัญของไทย ก่อนโควิด 19 เราเคยรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 10 ล้านคนต่อปี มาวันนี้หลังจากทุกประเทศเปิดประเทศกันแล้ว ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศแรกของโลก ที่ทางการจีนอนุญาตให้ทัวร์สามารถเดินทางออกมาได้ ซึ่งปีนี้คาดการณ์ นทท.จีนน่าจะถึง 4.25 ล้านคน
“หอการค้าฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนที่จะนำเอา BOI และ EEC เดินทาง Road show ที่จีนอีกครั้ง โดยจะไปเริ่มเจาะที่ปักกิ่ง เมืองหลวง ก่อนที่จะกระจายไปตามมณฑลต่างๆ เพื่อตอกย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนของสองประเทศ เป้าหมายคงจะเป็นการเดินสายที่เน้นการดึงดูดแบบโฟกัสกับนักธุรกิจรายกลุ่ม ว่าต้องการที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมใดบ้าง และไทยสามารถตอบโจทย์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนจีนได้อย่างไรบ้าง“ นายสนั่นกล่าว
นายสนั่นกล่าวเสริมว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สัญญาณการฟื้นตัวของแต่ละประเทศยังไม่ชัดเจน ประกอบกับปัญหาเรื่อง Geopolitics ระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงมีอยู่ ในช่วงต้นปีแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะเป็นไปดีในระดับ 4.5% และหลายฝ่ายก็ประเมินว่า GDP จีนปีนี้อาจจะเติบโตได้ถึง 5.2% แต่จีนเองก็ยังมีความท้าทายหลายด้าน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากดัชนีราคาที่ต่ำทำให้มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศแม้จะคลี่คลายลงไปแต่ก็ไม่ได้กลับมาโดดเด่นเหมือนก่อนหน้านี้ รวมถึงดีมานด์ของประเทศก็ยังต่ำ
“ในขณะที่แรงงานจีนยังมีอัตราว่างงานสูงในกลุ่มผู้จบใหม่ จึงต้องจับตาว่า ในกลางปีนี้เป็นต้นไป จีนอาจมีมาตรการใหม่ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้รวดเร็วอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพราะนั้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นไปด้วยเช่นกัน ช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการ์ภายในของจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อทิศทางการส่งออกของไทย โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ภาคเอกชนก็ยังเชื่อว่าใน Q3 และ Q4 ยอดการส่งออกจะกลับมาดีขึ้น“ นายสนั่นกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 มิถุนายน 2566