หอการค้าลุ้น ตั้งรัฐบาลเร็ว "ต่างชาติ" รอลงทุน สู้รับมือเศรษฐกิจโลกซึม
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า วันนี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปหรือไม่ เพราะว่ายังอยู่ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งหลังจากวันนั้น ถึงจะเห็นหน้าตาหรือโอกาสต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่สามารถเลือกนายรัฐมนตรีได้ในวันนั้น ก็ถือว่าเป็นไปตามความคาดหวังของหลายภาคส่วน แต่หากยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยังมี Timeline ที่เข้าใจว่า มีการกำหนดออกมาในวันที่ 19 กรกฎาคม และ 20 กรกฎาคม ซึ่งต้องจับตามองว่า ผลจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เอกชนหวังว่า กระบวนการต่างๆ ในรัฐสภาจะทำให้เรามีรัฐบาลใหม่ที่รวดเร็วที่สุดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง
นายสนั่น กล่าวต่อว่า ในส่วนนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้ ตัวเลขการขอรับ BOI ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่อีอีซี ก็มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมชมและให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต่างชาติพูดในทิศทางเดียวกันคือรอดูทิศทางและความแน่นอนของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเกิดการเดินหน้าลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลว่ารวดเร็วแค่ไหน
นายสนั่น กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้า ในระยะสั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน( กกร.) ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวด 3 (ก.ย.-ธ.ค. 66) ทั้งการพิจารณาขยายระยะเวลาคืน ส่วนระยะถัดไปเอกชนพยายามเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน ตามที่รัฐบาลได้เคยรับปากไว้ โดยดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพูดคุยและร่วมกันวางแผนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อปรับโครงสร้างพลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการในประเทศ และเอื้อต่อการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
แหล่งข่าวในกกร. ระบุว่า ในการหารือ กกร. ครั้งล่าสุด ยังมองว่าจะยังไม่ถึงขึ้นทำหนังสือเปิดผนึก เรียกร้องเร่งโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพราะยังดูไทม์ไลน์ยังมีเวลา และเชื่อว่าภาคการเมือง คงไม่ปล่อยให้สถานการณ์ถึงทางตัน เชื่อว่าพอถึงเวลา ทุกฝ่าจะเห็นแต่ประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพราะเกี่ยวพันถึงภาพลักษณ์ประเทศ
“สิ่งที่กังวลคือ การมีรัฐบาลหรือครม.ที่มีอำนาจบริหารจัดการบริหารประเทศ ได้เร็ว ก็จะดีต่อการรับมือเศรษฐกิจโลกที่ยังซึมตัว และปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกยังสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศนั้นๆ และชะลอการนำเข้า แม้ในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างจีน สหรัฐ ยังเจอผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวดีอย่างคาดไว้ ดังนั้น การเมืองล่าช้าย่อมกระทบ แต่ภาคเอกชนก็ไม่อยากให้ถึงขั้นต้องส่งหนังสือเรื่องการเมืองโดยเฉพาะ แต่เป็นการร้องเพื่อให้มาดูแลต้นทุนและช่วยเหลือต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่อยู่ระดับสูง จะเน้นมากที่สุดในตอนนี้ “ แหล่งข่าว กกร. กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 กรกฏาคม 2566