วิกฤตเศรษฐกิจโลกทุบ กกร.ลดเป้าส่งออกเหลือ -2 ถึง 0% หวังรัฐบาลใหม่เร่งงบฯ
วิกฤตเศรษฐกิจโลกระส่ำ กกร.ปรับลดเป้าส่งออกจาก -1 ถึง 0 เป็น -2 ถึง 0% หวังเร่งรัฐบาลใหม่ช่วยงบประมาณไม่สะดุด หวั่นม็อบสะเทือนท่องเที่ยว กระทบเป้า GDP ที่ 3-3.5%
วันที่ 2 สิงหาคม 2566 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทยร่วมในการแถลงข่าว
เศรษฐกิจโลกลุกไม่ขึ้น :
นายผยงกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ
ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตเศรษฐกิจโลกเพียง 3% สำหรับปีนี้ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลง สะท้อนจากจีดีพีไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้
เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ช่วยเศรษฐกิจไทย :
นายผยงเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความท้าทายสูง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า
ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังอยู่ต่ำกว่าปี 2562 เนื่องจากภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง
เพราะความกังวลเรื่องความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมืองที่จะกระทบต่อการทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ รวมถึงความกังวลเรื่องการชะลอตัวของการส่งออก ทำให้ที่ประชุมกกร.จึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
ส.อ.ท.วอนทุกฝ่ายถอยคนละครึ่งก้าว :
นายเกรียงไกรกล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะถอยกันคนละก้าวหรือครึ่งก้าว และแน่นอนว่าทุกเหตุการณ์ไม่สามารถตอบสนองให้ทุกคนพึงพอใจได้หมด แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ตอบสนองถึงคนส่วนใหญ่ก็เป็นพอ ส่วนคนส่วนเล็กอาจจะมีเสียงไม่พอใจบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญตอนนี้ภาคเอกชนมองว่าสถาการณ์โลกไม่ได้ล้อเล่น ทั้งปัญหาโลกร้อน ภัยแล้งคุกคามหนักมาก ทำให้ภาพการส่งออกอาหารและอานิสงส์ที่จะได้จากการที่หลายประเทศลดการส่งออก หรือแม้แต่การบริโภคภายในประเทศเองอาจจะกระทบตามไปด้วย
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันที่ 4 สิงหาคมนี้จะได้นายกรัฐมนตรี และสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย กกร.จะรอดูหน้าตาของ ครม.กระทรวงเศรษฐกิจ เพราะมีหลายโจทย์และปัญหาที่ทาง กกร.ได้นำเสนอไว้ ไม่ว่าจะระดับโลกหรือในประเทศ รวมถึงเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนที่จะมีการปรับโครงสร้าง ดังนั้น ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ที่จะเข้ามาต้องเก่ง มีความเข้าใจปัญหา และมีทีมที่มีฝีมือ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาส่วนนี้”
นายเกรียงไกรกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะยังมีความวุ่นวายอยู่ แต่ก็ยังอยู่ตามไทม์ไลน์เดิมที่ตั้งไว้ว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วเสร็จช่วงปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งปัจจุบันยังพอมีเวลาอยู่ ถ้าวันที่ 4 สิงหาคมที่จะถึงนี้ผ่านไปได้ด้วยดีก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ผ่านก็ยังพอมีเวลาอยู่ เพียงแต่ว่าช่วงนี้ก็บีบหัวใจไปสักหน่อย และเชื่อมั่นว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ได้
“เราไม่อยากเห็นภาพความรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์ เพราะตามเป้าหมายที่จีดีพี 3-3.5% นั้นมีเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ค่อนข้างจะดี อย่างการท่องเที่ยวที่ประเมินไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 30 ล้าน ถึงแม้ว่ายอดใช้จ่ายรายคนจะลดลง เพราะนักท่องเที่ยวมือเติบ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลง รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยเองก็ประหยัดมากขึ้น ทำให้ในปีนี้ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยหายไปเกือบ 30%”
หนี้ครัวเรือนไทยกระฉูดสุงสุดในรอบ 15 ปี :
นายผยงเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดที่ระบุว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ โดยพบว่าเป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด
ดังนั้น ที่ประชุม กกร.จึงมองว่า ควรมีการผลักดันอย่างจริงจัง ให้นำข้อมูลหนี้สหกรณ์และการประมาณการหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้ รวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอ กกร.ต่อรัฐบาลชุดใหม่ :
นายผยงอธิบายว่า จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนมีความท้าทายทั้งด้านรายได้และเรื่องต้นทุน ดังนั้น ที่ประชุม กกร.จึงเสนอให้พิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนในการดำรงชีพในภาคประชาชน ที่สะท้อนมาจากราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ภาวะภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อาจทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ความเสี่ยงโรคระบาดในปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงราคาพลังงานที่ยังผันผวน ด้วยเหตุนี้ กกร.จึงเสนอให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึงต้นทุนด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบการ
กกร.เตรียม Easy of Doing business :
นายผยงกล่าวว่า ระหว่างนี้ กกร.ก็ได้มีการหารือถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ได้อย่างเต็มที่ โดยคณะทำงาน Ease of Doing Business ของ กกร.จะเข้าไปทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในการเพิ่มการใช้ Paperless เพื่อขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยศึกษาจากโครงการนำร่องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 สิงหาคม 2566