"สนั่น" ไร้กังวล หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คาดจีดีพีไทยปี 2567 โต 5%
สนั่น ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง หลังหารือ รมว.พาณิชย์ หวังตัวเลขส่งออกปีนี้พลิกบวก ไร้กังวลหลังมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% มองจีดีพีในปีหน้า 2567 ใกล้เคียงกับรัฐบาลที่ตั้งเป้าไว้ 5%
วันที่ 27 กันยายน 2566 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากความชัดเจนของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผ่านการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท และลดค่าน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควบคู่ไปด้วย เสริมกับนโยบายวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่น่าจะช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้ขยับขึ้นไปแตะที่ 28-30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่น่าจะถึง 5 ล้านคนได้ และประเด็นการส่งออกที่มีสัญญาณพลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนสิงหาคม หลังจากชะลอตัวหลายเดือน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี
หอการค้าฯ มองว่าหลังจากนี้ในไตรมาส 4 สถานการณ์น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ และทำให้ภาพส่งออกปีนี้อาจไม่ติดลบหรือติดลบน้อยที่สุด
ส่วนการที่วันนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% นั้น หอการค้าฯ ยังไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว เพราะไทยถือว่ามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศไม่ห่างกันมากนัก และเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของไทยซึ่งช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หอการค้าฯ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจีดีพี 0.6-.08% และทำให้ภาพรวมจีดีพีทั้งปีโตได้ถึง 3% ตามที่ตั้งไว้
สำหรับการเยือนสหรัฐอเมริกาของท่านนายกรัฐมนตรีในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) และการพบปะหารือกับภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสถาบันการเงินและกองทุนระดับโลกนั้น ภาคเอกชนไทยมองว่าถือเป็นความสำเร็จและน่าชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการต่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้เนื่อง
เอกชนเชื่อว่ารัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู และอีกหลายฉบับ ไปพร้อมกับการจัดโร้ดโชว์ขยายตลาดใหม่ไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น จีน ซาอุดิอาระเบีย อินเดีย และประเทศแถบแอฟริกา เพื่อดึงดูดการลงทุนใน EEC ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทั้งกลุ่ม EV พลังงานสะอาด AI เกษตรสมัยใหม่ สุขภาพ และ FinTech ให้มากที่สุด เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งเอกชนหวังว่าโมเมนตั้มดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการลงทุนจริงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ หอการค้าฯ คาดการณ์จีดีพีในปี 2567 ใกล้เคียงกับรัฐบาลที่ตั้งเป้าไว้ 5% แม้จะเป็นเรื่องท้ายทาย แต่หากได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จน่าจะช่วยเพิ่มจีดีพี 2-3% และภายใต้การส่งออกที่เติบโตมากกว่าปีนี้ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขจีดีพีโต 5% ในรอบหลายปี ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันให้บรรลุเป้าหมาย
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ หอการค้าไทย โดยนายสนั่น อังอุบลกุล และดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ พร้อมคณะฯ ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นการค้า การลงทุน และการส่งออก เพื่อเน้นย้ำว่าหอการค้าฯ และภาคธุรกิจพร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนภาคการค้าให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าฯ ได้มีการหยิบยกและนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ใน 5 ประเด็น สำคัญ ได้แก่
1)กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเน้นเรื่องการเร่งรัดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่กำลังเจรจาอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงเปิดการเจรจาเพิ่มในตลาดที่สำคัญเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เป็นต้น
2)การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่ภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับ e-Government
3)การนำเข้า-ส่งออก ซึ่งควรเน้นสินค้าและตลาดที่สำคัญ
4)การค้าปลีก
5)การยกระดับตัวเลขการค้าชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อเสนอของภาคเอกชนนั้นสอดคล้องกับ 7 แนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ได้มอบเป็นนโยบายหลัก
ด้านกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า จะรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอในวันนี้ และมอบให้กรมที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งหากเรื่องใดแก้ไขได้ทันทีก็จะเร่งดำเนินการ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นหรือแก้ทันทีไม่ได้ก็จะมีการตั้งกลุ่มย่อย เชิญภาคเอกชนมาให้ข้อมูลและดูในรายละเอียดของแต่ละประเด็นก่อนที่จะมีมาตรการออกมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 กันยายน 2566