ประธานหอการค้ามอง "เศรษฐา" เยือนสหรัฐฯ พบบิ๊กธุรกิจ หนุนไทยเปิดเกมการค้าโลก ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่ม
"สนั่น" ประธานหอการค้า มอง "รัฐบาลเศรษฐา" ให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ดีหลังเยือนสหรัฐฯ ส่วนนโยบายเร่งด่วน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเมินว่าช่วยเพิ่ม GDP 0.6-0.8% และทำให้ภาพรวม GDP ทั้งปีโตได้ถึง 3% ตามเป้า ไม่กังวล กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย หวังตัวเลขส่งออกปีนี้พลิกกลับมาเป็นบวก
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อประชุม UNGA และได้พบปะหารือกับภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสถาบันการเงินและกองทุนระดับโลก
“เอกชนมองว่าถือเป็นความสำเร็จและน่าชื่นชมของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการต่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้ หวังว่าโมเมนตัมนี้จะส่งผลให้เกิดการลงทุนจริงในระยะต่อไป”
โดยขอให้รัฐบาลผลักดันการลงทุนต่อเนื่อง ดังนี้
* เดินหน้าข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย – EU และอีกหลายฉบับ
* จัดโรดโชว์ขยายตลาดใหม่ไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย และตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย และกลุ่มแอฟริกา เพื่อดึงดูดการลงทุนพื้นที่ EEC ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
* เจาะกลุ่มนักลงทุน EV พลังงานสะอาด AI เกษตรสมัยใหม่ สุขภาพ และ FinTech ให้มากที่สุด เพื่อสร้างแต้มต่อเวทีโลกมากขึ้น
มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นส่งสัญญาณบวก
นอกจากนี้ จากความชัดเจนของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ผ่านการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท และลดค่าน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควบคู่ไปด้วย เสริมกับนโยบาย Free Visa แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่น่าจะช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้ขยับขึ้นไปแตะที่ 28-30 ล้านคน
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่น่าจะถึง 5 ล้านคนได้ ผ่านสัญญาณการจองเที่ยวบินและห้องพักที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่วนในระยะยาว รัฐบาลควรเน้นการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายและอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น
“ประเด็นการส่งออกที่ชะลอตัวหลายเดือนและมีสัญญาณพลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนสิงหาคมถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยหอการค้าฯ มองว่าหลังจากนี้ในไตรมาส 4 สถานการณ์น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ และทำให้ภาคส่งออกปีนี้อาจไม่ติดลบหรือติดลบน้อยที่สุด” สนั่นกล่าว
ไม่กังวล กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% หอการค้าฯ ยังไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว เพราะไทยถือว่ามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศไม่ห่างกันมากนัก และเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หอการค้าฯ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่ม GDP 0.6-0.8% และทำให้ภาพรวม GDP ทั้งปีโตได้ถึง 3% ตามที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ มอง GDP ในปี 2567 ใกล้เคียงกับรัฐบาลที่ตั้งเป้าไว้ 5% แม้จะเป็นเรื่องท้าทาย แต่หากได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จน่าจะช่วยเพิ่ม GDP 2-3% ภายใต้การส่งออกที่เติบโตที่มากกว่าปีนี้
“หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งด้าน Geopolitics ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลข 5% ในรอบหลายปี ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันให้บรรลุเป้าหมาย”
แนะ ‘ภูมิธรรม’ รุกการค้า 5 ข้อ :
ทั้งนี้ หลังจากหอการค้าไทยได้เข้าพบและประชุมร่วมกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นการค้า การลงทุน และการส่งออก หอการค้าฯ โดยหยิบยก 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
* กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเน้นเรื่องเร่งรัด FTA ที่กำลังเจรจาอยู่ให้แล้วเสร็จ
* การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่ภาคเอกชน
* การนำเข้า-ส่งออก ซึ่งควรเน้นสินค้าและตลาดที่สำคัญ
* การค้าปลีก
* การยกระดับตัวเลขการค้าชายแดน
ด้าน มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า “นโยบายของรัฐบาลใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับปานกลาง”
เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น
ที่มา the standard
วันที่ 28 กันยายน 2566