กกร. จี้สร้างเชื่อมั่นปลอดภัย ดึงเที่ยวไฮซีซั่น ห่วงบาทอ่อนทำขาดดุลพุ่ง
กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยไม่มีปาฏิหาริย์ คาดทั้งปีนี้ยังขยายตัวได้ในกรอบเดิม 2.5-3% ห่วงบาทอ่อนทำไทยขาดดุลการคลังเพิ่ม ลุ้นท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 28-30 ล้านคน จี้บริหารจัดการด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างมั่นใจเที่ยวไฮซีซั่น ชงจำกัดเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทซื้อสินค้าไทย
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนตุลาคม 2566 มี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานการประชุม นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประะชุม
สรุปสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ กกร. ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียงประมาณ 3.0% มีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และมีความผกผันและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของโลกจะเติบโตเพียงประมาณ 3.0% ในปี 2566 และเพียง 2.7% ในปี 2567
ทั้งนี้จากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ส่งผลให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้เผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้า
ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องในเวลานี้ จากปัจจัยภายในและนอกประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงที่นานกว่าที่คาด ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลงในช่วงนี้ส่งผลค่าเงินหยวนและค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศจากความกังวลในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และมีการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าค่อนข้างเร็วในเดือนกันยายน แต่โดยรวมยังสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคในช่วง 9 เดือนแรกของปี
"ที่ประชุมกกร.ยังคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้จะขยายได้ในกรอบ 2.5 - 3.0% (ตามที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือน ก.ย.) ขณะที่คาดว่ามาตรการวีซ่าฟรีของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น โดยจะมีส่วนช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นราว 3.4 แสนคน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มแตะระดับ 29 - 30 ล้านคนในปีนี้ ภายใต้การบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยและเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว"
อย่างไรก็ดียังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เอลนีโญ) ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง
ที่ประชุม กกร. ยังจะได้จัดเตรียมข้อเสนอทางเศรษฐกิจไปยังรัฐบาลชุดใหม่ และขอให้มีการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.กลาง) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเสนอให้รัฐบาลจัดประชุมทุก ๆ 3 เดือน เพื่อเป็นเวทีนำเสนอความเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (Regulatory Guillotine) โดยจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ กกร. ยังมีการหารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่
1)การช่วยเหลือ SME ให้เข้าถึงสินเชื่อมีความจำเป็นมากกว่าการพักชำระหนี้ เนื่องจาก SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังฟื้นตัวได้ช้าและยังเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่เต็มที่ เห็นได้จากยอดสินเชื่อ SME ที่ยังหดตัว และการสำรวจความเห็นของ SME โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่พบว่าต้องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าการพักชำระหนี้ โดยควรสนับสนุนผลักดันให้กิจการของ SME สามารถมีความพร้อมรองรับโอกาสจากเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ High Season ของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลด้วยเม็ดเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทในช่วงต้นปีหน้า
โดยที่ประชุมกกร.เสนอให้รัฐบาลใช้กลไกของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ SME เพิ่มอัตราการค้ำประกันจาก 30% เป็น 50-60% โดยบูรณาการการใช้กองทุนของ สสว. เป็นองค์รวม ช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อลดต้นทุน และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME
2)ที่ประชุม กกร. สนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท แต่เสนอว่า ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ตอบโจทย์ และจำกัดพื้นที่ในการใช้งาน เพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจทวีคูณ (Multiplier) มากกว่า โดยสนับสนุนการใช้จ่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Local Content) หากสามารถควบคุมวงเงินให้เหมาะสมจะมีวงเงินไปลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่หยุดชะงักและเป็นไปตามเป้าหมาย มุ่งเน้นให้การเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
3)การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศควรใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้กำหนดแนวทาง เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด เนื่องจากบริบทและศักยภาพของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งได้กำหนดปัจจัยในการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ฯลฯ)
4)ผลักดันการเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ระหว่างไทยกับต่างประเทศให้มากที่สุด โดยเร่งผลักดันการเจรจา FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ทั้ง ไทย – EU, ไทย - ศรีลังกา, ไทย - EFTA และเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ในตลาดสำคัญและตลาดใหม่ ๆ และเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ในตลาดสำคัญและตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และละตินอเมริกา ตลอดจน FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อส่งเสริมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
5)ที่ประชุม กกร. เห็นควรให้รัฐบาลสนับสนุนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะ (2566 - 2570) ตาม 5 แนวทาง
ประกอบด้วย
(1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต
(2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค
(3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ
(5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ
6)เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในปี 2566 ปริมาณน้ำใช้ได้จริง ณ เดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 54 % ซึ่งต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่อยู่ที่ระดับ 66 % หากภาวะเอลนีโญ่มีความรุนแรง ปริมาณฝนที่ตกจะยิ่งต่ำกว่าค่าปกติ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ยิ่งน้อยลงและทำให้ความเสียหายจากภัยแล้งทวีความรุนแรงและจะกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น ภาคเอกชน จึงขอให้รัฐบาลบูรณาการการดำเนินงานของกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายสำคัญ เช่น EEC และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ขอให้เร่งรัดพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ เพื่อกักเก็บสำรองให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC รวมถึงทบทวนแผนทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
โดยสรุปภาคเอกชนเห็นพ้องว่าประเด็นการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยาว โดยอาจพิจารณาใช้งบประมาณบางส่วนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่หยุดชะงักและเป็นไปตามเป้าหมาย
7)ผลักดันแนวทางการทำ Carbon credit ให้สามารถเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล และสามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการกำหนดบทบาทของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อม โดยสภาหอการค้าฯ เน้นภาคการค้า เกษตรและบริการ สภาอุตสาหกรรมฯ เน้นภาคการผลิต และสมาคมธนาคารไทยจะเข้ามาสนับสนุนภาคการเงิน เพื่อให้เกิดรูปแบบที่ชัดเจนและสามารถขับเคลื่อนมาตรการ Carbon credit และสามารถแก้ปัญหามาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปได้ตรงจุด ลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออกไป EU
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 4 ตุลาคม 2566