ต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 21 ล้านคน จีนยังแผ่ว
นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 21 ล้านคน จีนยังแผ่ว เที่ยวไทยราวหกหมื่น ใกล้เคียงกับก่อนเปิดวีซ่าฟรี นักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มเล็กน้อย ห่วงสัปดาห์นี้นักท่องเที่ยวลดต่อ เหตุภาวะสงคราม-มองไทยไม่ปลอดภัย
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 รายงานจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 21,019,800 คน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกส่วนใหญ่มาจากประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่
* มาเลเซีย จำนวน 3,431,287 คน
* จีน จำนวน 2,645,885 คน
* เกาหลีใต้ จำนวน 1,255,769 คน
* อินเดีย จำนวน 1,230,125 คน
* รัสเซีย จำนวน 1,038,036 คน
รายงานระบุต่อไปว่า สัปดาห์ที่ 41 ของปี 2566 หรือระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นจำนวน 470,299 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 27,226 คน หรือราว 5.5%


โดยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวในสัปดาห์นี้ คือ เป็นช่วงสิ้นสุดการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ และนักท่องเที่ยวบางส่วนยังมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่
* มาเลเซีย จำนวน 74,233 คน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.9%
* จีน จำนวน 61,094 คน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 18.6%
* อินเดีย จำนวน 30,170 คน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 11.3%
* เกาหลีใต้ จำนวน 27,264 คน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 11.3%
* รัสเซีย จำนวน 22,018 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2%
ทั้งนี้ พบว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในสัปดาห์นี้มีจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนก่อนประกาศมาตรการยกเลิกการตรวจลงตรา (ฟรีซ่า) แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน ช่วงระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 61,728 คน
กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า ในสัปดาห์นี้ (16-22 ตุลาคม 2566) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยอาจมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสิ้นสุดวันหยุดยาว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย รวมถึงประเด็นความกังวลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของไทย และการเข้าสู่ภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากความขัดแย้งตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 17 ตุลาคม 2566