เปิด 7 ข้อเสนอเอกชนบนเวทีการค้า-การลงทุนที่ปักกิ่ง เสริมความร่วมมือไทย-จีน ทุกมิติ
ทัพเอกชนไทยลุยปักกิ่ง เปิดข้อเสนอหอการค้าไทย "สนั่น" แนะ เสริมความร่วมมือไทย-จีนดึงลงทุนในอีอีซีเพิ่ม
วันที่ 21 ตุลาคม 2566 ในงานความร่วมมือของภาคเอกชนไทย-จีน ในงาน Thailand – China Investment Forum “Thailand-China Private Sector’s Economic Cooperation” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของฝั่งไทย และ China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) ฝั่งจีน
มีภาคเอกชนทั้งสองประเทศและ Bank of China (BOC) เข้าร่วมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ภาคเอกชนไทยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนภาคเอกชน หลายคนอาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)
นายสนั่น ได้ขึ้นกล่าวถึงความร่วมมือทั้งสองประเทศ พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ดังนี้
1) ประเทศไทยพร้อมปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ในระดับภาคเอกชนของ 2 ประเทศ ทั้งหอการค้าฯ สมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
2) ขยายการลงทุนของจีน ใน EEC ของไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือ RCEP ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง และการเร่งผลักดันโครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ใกล้ชิด และสอดคล้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย
3) เร่งเชื่อมโยงเส้นทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงระบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน
4) ผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยที่ไทยได้ดำเนินนโยบาย free visa ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
5) ขอความร่วมมือให้ฝ่ายจีนอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย รวมทั้งการเปิดตลาดสินค้าให้กับสับปะรดปอกเปลือก และทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภค (Ready to Eat)
6) การยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยและจีน รวมถึง ดำเนินการฝึกอบรมร่วมกันให้มากขึ้น
7) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย – จีน โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทย-จีน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ 2 ประเทศ 2 นิคม ในอนาคตเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยง Supply Chain ซึ่งกันและกัน
“ผมได้เน้นย้ำว่ากับภาคธุรกิจจีนว่า ไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการรองรับการลงทุนจากจีนในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักลงทุนชาวจีนจะมีความเชื่อมั่นและมีความสนใจในการเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในไทยมากยิ่งขึ้น โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะ connect ทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันต่อไป”
นายสนั่น ยังระบุอีกด้วยว่า นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและจีนตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา ทั้งสองประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์ที่แนบแน่นหลายมิติ ให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงในระดับประชาชน
ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดดุจพี่น้องระหว่างไทยและจีนมีมาอย่างยาวนาน ตามคำกล่าวที่ว่า ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกันได้ถูกยกระดับความเป็นมหามิตรมากยิ่งขึ้นด้วยการก้าวสู่ ทศวรรษที่ 2 ของการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ ปี 2556 โดยไทยมีการส่งออกไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.19 ล้านล้านบาท (2.42 แสนล้านหยวน) และไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากจีนสูงถึง 2.49 ล้านล้านบาท (5.07 แสนล้านหยวน)
ยิ่งกว่านั้น จีนยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทยเป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท (1.5 หมื่นล้านหยวน) และตั้งแต่ปี 2561 – 2565 ประเทศจีน ได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยเป็นอันดับที่ 2 จากการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ EEC ทั้งหมด
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ได้ผลักดัน ขับเคลื่อน และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “Connect the dots” ที่เชื่อมโยงและผสานการทำงานของเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การค้าการลงทุน เกษตรและอาหาร
การท่องเที่ยวและบริการ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาและยกระดับของเศรษฐกิจไทย
ในเดือนเมษายนปี 2565 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านดอน ปรมัถต์วินัย ในขณะนััน ได้นำคณะผู้แทนทางเศรษฐกิจเดินทางเยือน เมืองหวางซัน มณฑลอันฮุย เพื่อพบกับ ท่านหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในขณะนั้น
เพื่อหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรและผลไม้จากไทยนำเข้าสู่ประเทศจีน จากการเยือนครั้งดังกล่าว ไทยได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากจีนอย่างดียิ่ง
นอกจากนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในการจัดทำการวิจัยในประเด็นสถานการณ์การลงทุนของจีนในไทย เพื่อวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน รวมถึง ปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนของจีนในประเทศไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 ตุลาคม 2566