คิดเห็นแชร์ : สภาวะความถี่ขาดแคลน แผนดิจิทัลไทยแลนด์สะดุด
สภาวะความถี่ขาดแคลน แผนดิจิทัลไทยแลนด์สะดุด
ในช่วงปีก่อน 2555-2556 ที่เกิดการประมูลความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเมืองไทยคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์ก่อนมีการสร้างโครงหลังจากการประมูลประมาณหกเดือน คุณภาพเสียงและความเสถียรแทบจะไม่ได้ โทรได้ประมาณสองสามนาทีสายก็ตัดขาดตกหล่น ไม่ต้องนับการบริการด้านข้อมูลสมัยนั้นก็จะเป็นช่อง youtube ตอนยุคต้นๆ หรือ Facebook เรียกดูข้อมูลแต่ละครั้งต้องรอแล้วรออีก ผลกระทบต่อการใช้งานจะกระทบทั้งครอบครัวในการสื่อสารธุระต่างๆ ที่ต้องโทรหลายครั้ง ต่อเนื่องผลกระทบทางธุรกิจ
หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดสภาวการณ์เช่นนี้ คือ ประเทศไทยขาดการจัดสรรความถี่ใหม่เข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มามากกว่าสิบปีรวมทั้งกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของระบบสัมปทานที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ความถี่ที่จัดสรรให้กับหน่วยงานรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้มีการลงทุนสร้างระบบโครงข่ายใดๆ เพื่อรองรับความต้องการภาคประชาชนและธุรกิจได้ทันเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย แต่เมื่อมีการเร่งสร้างโครงข่ายบนความถี่ 2100 MHz ด้วยเทคโนโลยี 4G เป็นส่วนใหญ่ ทำให้อันดับความสามารถการแข่งขันโดย World Economic Forum อันดับในการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีก่อนการประมูล 2011-2012 ที่มีอันดับอยู่ที่ 70 จาก 142 ประเทศ ที่มีการจัดอันดับ ขณะนั้น ได้มีการขยับอันดับอย่างก้าวกระโดดในปี 2014-2015 เป็นอันดับที่ 34 จาก 144 รวมทั้งอันดับการเข้าถึง Mobile Broadband ก็อยู่ในอันดับ 38
โดยในปัจจุบัน นอกจากนี้ การจัดอันดับโดย ITU โดยมีรายงานในปี 2014 จะเห็นว่าอันดับ ICT Development ในปี 2012 ซึ่งมีการจัดประมูลในเดือนตุลาคม และมีการให้ใบอนุญาตในเดือนธันวาคม ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 95 ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 81 ในปี 2013 โดยในปัจจุบันรูปแบบการจัดอันดับได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการวัดทางด้าน Digital Competitiveness ranking ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 ประเทศ
เมื่อมีการเปรียบเทียบเจตจำนงในการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลในตุลาคม 2555 ที่ต้องการเพิ่มความถี่ให้กับอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังมีปัญหาการขาดแคลนความถี่เป็นสำคัญ กับการประมูลในครั้งต่อมาที่เน้นความสำเร็จบนจำนวนเงินที่ได้จากการแข่งขันเป็นหลักทำให้เกิดปัญหาหลังการประมูลต่ออุตสาหกรรมทำให้ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถไปต่อทางธุรกิจได้จริง ตัวเลขรายได้จากการประมูลก็ไม่สามารถเก็บได้จริง ผลเงินหลักแสนล้านบาทจากการประมูลแทบจะไม่ได้มีความหมายอย่างไรเลย สร้างภาระและปัญหาที่ยุ่งยากให้กับภาคอุตสาหกรรม
ในประเด็นเรื่องนี้สาระสำคัญอยู่ที่การบริหารคลื่นความถี่ (Spectrum Management) เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการนำคลื่นความถี่มาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วยจากการศึกษาแนวทางการจัดสรรความถี่ด้วยวิธีประมูลจากประเทศต่างๆ ไม่พบการระงับการจัดสรรความถี่ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าความต้องการจำนวนของผู้เข้าร่วมประมูลมีเท่ากับ หรือน้อยกว่าจำนวนคลื่นความถี่ที่จะจัดสรรออกไป
ถึงแม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้มีการประมูล แต่การดำเนินการจัดสรรความถี่ให้กับผู้เข้าร่วมประมูลโดยทันที ทั้งนี้ จุดประสงค์สำคัญที่สุด คือ โอกาสที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของความถี่จะได้รับประโยชน์ เมื่อความถี่ได้รับการจัดสรรเพื่อนำไปสร้างโครงข่ายกลับมาให้บริการ
ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจัดสรรความถี่ครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีความถี่ที่ถูกจัดสรรออกไปสามช่วงความถี่ คือ ย่าน 700MHz, 2600MHz และ 26GHz โดยคาดว่าจะมีการนำเอาความถี่เหล่านี้ไปใช้สร้างโครงข่าย 5G เพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแผนดิจิทัลไทยแลนด์ อย่างไรแล้ว ตามความเป็นจริงแล้วคลื่นย่านความถี่ 26 GHz ที่มีมูลค่าความถี่ 11,627 ล้านบาท เป็นเวลาเกือบสี่ปีแล้ว ที่ไม่ได้มีการสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์แต่อย่างไร
เนื่องจากอุปกรณ์ตัวลูกข่ายยังไม่ได้มีความพร้อม มีแต่ย่านความถี่ 2600MHz ที่มีการสร้างโครงข่ายอย่างกว้างขวาง เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยี 5G ย่านความถี่กลาง (1000MHz-6000MHz) สำคัญที่สุด โดยมีความถี่เรือธงอยู่ที่คลื่น 3500MHz ที่มีระบบนิเวศใหญ่ที่สุดมีความหลากหลายอุปกรณ์มากที่สุด ในตลาดผู้ใช้ 5G ที่ใช้แต่เพียงสมาร์ทโฟนย่อมไม่เห็นความแตกต่างระหว่างคลื่นทั้งสองนี้ แต่ในตลาดที่อุปกรณ์ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เช่น ตลาด AR Glass หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ แขนกลอัจฉริยะ บนคลื่น 3500MHz จะมีความพร้อมและหลากหลายมากกว่า 2600MHz โดยทั้งนี้ หน่วยกำกับดูแลบริหารคลื่นมีแผนจะจัดสรรคลื่น 3500MHz ในปลายปี 2026
ในขณะที่ความต้องการการส่งผ่านข้อมูลบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยจากการคาดการณ์ปริมาณทราฟฟิกระหว่างปี 2023-2028 มีปริมาณทราฟฟิกสูงมากขึ้นร้อยละ 20 ปี โดยสถานีฐานแต่ละสถานีที่ปีนี้ต้องรองรับความต้องการ 150 GB/สถานีฐาน โดยแต่สถานีฐานปัจจุบันมีความสามารถรองรับได้เพียง 200GB แต่ในปี 2025 ความต้องการของแต่ละสถานีจะเต็มความสามารถ โดยทั้งนี้ แต่ละผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการลงทุนคลื่น 26GHz เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับความต้องการ (แต่ไม่รู้ว่าสมาร์ทโฟนจะรองรับได้หรือไม่) กอปรสถานการณ์จะเลวร้ายลงโดยในเดือนสิงหาคมความถี่ย่าน 2300 และ 2100MHz ที่อยู่ภายใต้สัมปทานของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจะหมดอายุลง แต่ได้มีการลงทุนสถานีฐานบนสองความถี่นี้เป็นจำนวนหลายหมื่นแห่งจะต้องถูกระงับบริการ โดยในปัจจุบันนี้ยังไม่มีแนวนโยบายที่แน่ชัดจากหน่วยงานภาครัฐต่อการใช้งานความถี่นี้อย่างไรต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วการดำเนินการในการสร้างหรือปรับปรุงโครงข่ายจะต้องให้เวลาล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งปี
จากสัญญาณน่าวิตกต่อสภาวะการขาดแคลนความถี่ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2025 จะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับก่อนการประมูลความถี่ในปี 2555 แต่อาจรุนแรงกว่าหลายเท่าเพราะทั้งนี้โครงข่าย 5G ถูกวางไว้ว่าจะเป็นโครงสร้างดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นอาจกล่าวสรุปได้ว่าการขาดแคลนความถี่จะทำให้โครงข่าย 5G สะดุด ดิจิทัลประเทศไทยก็จะสะอึกไปด้วย
ดร.เจษฎา ศิวรักษ์
หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัทอิริคสันประเทศไทย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 3 ธันวาคม 2566