Update! ภาพรวมการค้า-ลงทุนของสเปน & กฎระเบียบการดำเนินธุรกิจที่ ผปก.ไทยต้องรู้
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานส่งเสริมการลงทุนของสเปน หรือ ICEX-Invest in Spain ร่วมกับสำนักงานทนายความ Garrigues ได้เปิดตัวคู่มือการดำเนินธุรกิจในสเปนประจำปี 2566 (2023 Guide to Business in Spain) โดยเนื้อหาหลัก ๆ ประกอบด้วย (1) ภาพรวมการลงทุนในสเปนในปัจจุบัน (2) การจัดตั้งธุรกิจในสเปน (3) ระบบภาษี (4) มาตรการช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ในการลงทุน (5) กฎระเบียบด้านแรงงานและประกันสังคม (6) กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และ (7) กฎหมายและภาษี e-Commerce นอกจากนี้ ยังมีภาคผนวกที่เกี่ยวกับ (1) กฎหมายบริษัทและกฎหมายพาณิชย์ (2) ระบบการเงินสเปน และ (3) การบัญชีและการตรวจสอบด้วย
จากข้อมูลในคู่มือฯ ดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันสเปนมีขนาดของ GDP ใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก และนอกจากตลาดภายในแล้ว สเปนยังเป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านตำแหน่งที่ตั้งที่สามารถดึงดูดการลงทุน รวมถึงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังตลาดในภูมิภาค EMEA (ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา) ซึ่งมีประชากรกว่า 2,400 ล้านคนได้อีกด้วย โดยเฉพาะกับภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งสเปนมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้น
ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ :
คู่มือฯ ได้อ้างถึงรายงาน World Investment Report 2022 ซึ่งจัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ซึ่งระบุว่าในปี 2564 สเปนมีการลงทุนโดยตรงสะสมจากต่างประเทศ (FDI inward stock) มากเป็นอันดับ 13 ของโลก (อันดับ 6 ในสหภาพยุโรป) คิดเป็นมูลค่ารวม 819,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา สหราชอาณาจักร และอิตาลี โดยมีบริษัทที่มีเงินทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการในสเปนกว่า 20,000 ราย สร้างงาน 1.8 ล้านตำแหน่ง และในทางกลับกัน สเปนก็เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงสะสมในต่างประเทศ (FDI outward stock) มากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 600,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ :
คู่มือฯ ได้อ้างถึงรายงาน World Trade Statistical Review 2022 จัดทำโดยองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งระบุว่า ในปี 2564 สเปนเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 19 และเป็นผู้นําเข้าสินค้าอันดับที่ 15 ของโลก (ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1.9 ของการส่งออก/นําเข้าสินค้าทั่วโลก ตามลำดับ) ในขณะที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าบริการในอันดับที่ 15 และนําเข้าสินค้าบริการในอันดับที่ 21 ของโลก (ร้อยละ 2 และร้อยละ 1.3 ของสินค้าบริการทั่วโลก)
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์และการท่องเที่ยวสเปน ปี 2565 พบว่า คู่ค้าหลักของสเปนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในปี 2565 สเปนมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 62.8 และนําเข้าจากสหภาพยุโรปร้อยละ 44.7 ในขณะที่การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรปพบว่า ในปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียและแอฟริกามีมูลค่าที่สูงขึ้นกว่ากลุ่มลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ ซึ่งถือสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทของสเปนกําลังเริ่มปรับตัวและมีการกระจายตลาดสินค้าไปยังตลาดอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ คู่มือฯ ดังกล่าวยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ/กฎหมายด้านเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่รัฐบาลสเปนประกาศใช้ในปีที่ผ่านมา เช่น กฎหมายการจัดตั้งและการขยายตัวของบริษัท (Ley de creación y crecimiento de empresas) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ตุลาคม 2565 เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทใหม่และลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ
อาทิ การยกเลิกทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ํา 3,000 ยูโร และสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายส่งเสริมระบบนิเวศบริษัทเกิดใหม่ (Ley de fomento del ecosistema de las empresas emergentes) หรือกฎหมายธุรกิจสตาร์ทอัพ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นภาษี การลดขั้นตอนทางราชการ และการขอมีถิ่นพํานักของนักธุรกิจ/ลูกจ้างต่างชาติ เช่น
(1) การลดอัตราภาษีนิติบุคคลและภาษีสำหรับผู้ไม่มีถิ่นพํานักในสเปน (IRNR) จากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 ในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี และ (2) การลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้แก่นักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ เพิ่มเป็นร้อยละ 50 (เดิมร้อยละ 30) เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของคู่มือการดำเนินธุรกิจในสเปน (ภาษาอังกฤษ) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.guidetobusinessinspain.com/en/
(ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน/สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด)
ที่มา globthailand
วันที่ 7 ธันวาคม 2566