"IMF" เตือนธนาคารกลางเอเชีย! อย่าตามเฟดมากเกินไป ควรกำหนดนโยบายการเงินเอง
"IMF" ออกโรงเตือน "ธนาคารกลางในเอเชีย" ไม่ควรให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐมากเกินไป สิ่งที่สำคัญกว่า คือ "เงินเฟ้อในประเทศ" ที่สำคัญต่อเสถียรภาพด้านราคาภายในชาติมากกว่า
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนธนาคารกลางในเอเชียว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากเกินไป จนละเลยสถานการณ์ภายในประเทศ ธนาคารกลางแต่ละชาติควรคำนึง “อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ” เป็นหลักในการกำหนดนโยบายการเงิน
กฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการ IMF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แถลงว่า “เราแนะนำให้ธนาคารกลางในเอเชียเน้นที่เงินเฟ้อภายในประเทศเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินที่อิงกับการเคลื่อนไหวของเฟดมากเกินไป เพราะหากธนาคารกลางเดินตามเฟดสูงเกินไป ก็อาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาภายในประเทศตนเองได้
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ IMF ให้สัมภาษณ์ในทีวีบลูมเบิร์ก ว่า "ทุกสายตาจับจ้องไปที่สหรัฐ" โดยเจ้าหน้าที่หลายคนในกรุงวอชิงตันที่มาประชุมฤดูใบไม้ผลิร่วมกันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่างตั้งคำถามว่า "ธนาคารกลางสหรัฐ จะต้องติดอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปอีกนานแค่ไหน"
กฤษณะ กล่าวว่า “นโยบายการเงินของสหรัฐสำคัญต่อเอเชีย โดยดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของเอเชียอย่างรุนแรงและรวดเร็ว”
ในขณะเดียวกัน เขายังชี้ว่า ธนาคารกลางแต่ละแห่งในเอเชียควรบริหารภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศตามความเหมาะสม อีกทั้งประเทศที่ประสบเงินเฟ้อสูง ควรใช้ “มาตรการเข้มงวดระยะยาว” ขณะที่ประเทศที่มีช่องว่างทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจยังไม่คึกคักควรใช้ “นโยบายผ่อนคลาย” แทน
นอกจากนี้ ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง ประกอบกับเงินเฟ้อที่เอาลงได้ยาก จึงทำให้ความหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดเจือจางลง กลายเป็นแรงหนุนให้สกุลเงินดอลลาร์ถีบตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่อ่อนค่าลงแทน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 เมษายน 2567