นักธุรกิจไทย 60 ราย ยกทัพเยือนกัมพูชา กรุยทางสร้างโอกาสการค้า-ลงทุน
สภาหอการค้าฯ ยกทัพนักธุรกิจไทย 60 ราย กรุยทางสร้างโอกาสการค้า-ลงทุน ปีนี้คาดจีดีพีกัมพูชาโต 7-8%
วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจัดคณะนักธุรกิจไทยกว่า 60 ราย ในสาขาธุรกิจต่าง ๆ เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของสภาหอการค้าฯ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างภาคเอกชนไทยกับประเทศในกลุ่ม CLMV และกัมพูชาถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างสูง โดยจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 7-8% ต่อเนื่อง เป็นผลจากการปฏิรูปนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) เพื่อใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ กัมพูชายังพยายามพัฒนาภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงขาดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการเก็บรักษา แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยในการเข้าไปร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารแปรรูป การท่องเที่ยว และภาคบริการ ที่เป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย
โดยในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 7,972.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.26% แบ่งเป็น ส่งออก 7,077.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 895.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการค้าของไทยยังเกินดุลอยู่ที่ 6,182.09 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
สำหรับการเยือนครั้งนี้ ได้นำคณะเข้าพบกับ นายพิชิต บุญสุด อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ร่วมกับ นายนิรวัชช์ รังสีกาญจน อัครราชทูต ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) และนางจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงพนมเปญ
จากนั้นเข้าเยี่ยมคารวะ นายจอม ประสิทธิ์ (H.E. Mr. Cham Prasidh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรมกัมพูชา โดยนักธุรกิจไทยมีการนำเสนอถึงความสำเร็จของการลงทุนในกัมพูชาว่า ช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของไทยช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศ สร้างรายได้ และพัฒนาแรงงานในกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในด้านกฎระเบียบ และความซ้ำซ้อนในการประสานงานระหว่างหน่วยงานยังคงมีอยู่ หากสามารถแก้ไขประเด็นเหล่านี้ได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกธุรกิจของภาคเอกชนไทยทั้งที่ลงทุนอยู่แล้ว และดึงดูดนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายกัมพูชายินดีสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในแง่การเข้าไปลงทุน
ส่วนการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี ที่กัมพูชามีข้อตกลงต่าง ๆ ได้ เช่น FTA จีน เกาหลี GSP และกรอบ RCEP ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้หารือมีทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน เกษตร พลาสติก และอัญมณี เป็นต้น
หลังจากนั้น คณะนักธุรกิจไทย เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ นายปาน สรศักดิ์ (H.E. Mr. Pan Sorasak) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้า
เช่น การมีช่องทางหรือหน่วยงานให้คำแนะนำข้อมูลที่ชัดเจนในการทำธุรกิจในกัมพูชา ความร่วมมือในอุตสาหกรรมอัญมณี และ ความร่วมมือด้านการศึกษาในการเปิดหลักสูตรหรือวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในกัมพูชา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ยินดีร่วมมือกับภาคเอกชนไทยในการผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน
โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดในกัมพูชา และมอบหมายให้หอการค้ากัมพูชา (CCC) เป็นผู้ประสานงานหลักเพื่อให้ประเด็นที่หารือขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เน้นย้ำถึงแนวทางการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ร่วมเปิดงานแสดงสินค้า Cambodia Architect & Décor 2022 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรม และบริการด้านการก่อสร้าง และตกแต่งระดับนานาชาติ, Cambodia Health & Beauty Expo 2022 งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและบริการด้านสุขภาพและความงาม และ Cambodia FoodPlus Expo 2022 งานแสดงสินค้าด้านธุรกิจและบริการด้านอาหารเครื่องดื่ม แฟรนไชส์ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก
โดยบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) และสภาหอการค้าฯ ได้ร่วมจัดงานคู่ขนานทั้ง 3 งาน ซึ่งนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานกว่า 150 ราย บนพื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร ณ Diamond Island Convention and Exhibition Center กรุงพนมเปญ
อีกทั้ง ยังได้รับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชา โดยเสนอรัฐบาลไทยเดินหน้ารื้อฟื้น โครงการเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต โดยเส้นทางดังกล่าวเชื่อมต่อจากสถานีอรัญประเทศ ถึงสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ฝั่งไทย ระยะทาง 6 ก.ม. ซึ่งได้มีการระงับการเดินรถไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และภายหลังการขนส่งบนเส้นทางนี้จะต้องขออนุมัติเป็นครั้ง ๆ ไป
ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก และเสียเปรียบด้านต้นทุนการขนส่งหากเทียบกับสินค้าจากจีนและเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนาม ที่สามารถใช้ท่าเรือสีหนุวิลล์ ขนส่งสินค้าเข้ามาได้สะดวกและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
ดังนั้น หากสามารถเปิดการเดินรถไฟจากกัมพูชาเพื่อเข้าไปรับตู้สินค้าในพื้นที่ จ.สระแก้ว ได้ จะทำให้ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไทยและช่วยเรื่องการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพราะสินค้าไทยเป็นที่เชื่อถือและได้รับความนิยมจากประชาชนกัมพูชา ทั้งนี้ สภาหอการค้าฯ เชื่อว่าหากสามารถผลักดันให้โครงการดังกล่าวกลับมาดำเนินการอีกครั้ง จะมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2565