สานฝันไทย สู่ Aviation Hub ภูมิภาค
การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบินหรือฮับการบินของภูมิภาคกลับมาเป็นเป้าหมายหลักอีกครั้ง หลังจากที่ทางรัฐบาลไทยประกาศให้แผนพัฒนาฮับการบิน (Aviation Hub) เป็น 1 ใน 8 วิสัยทัศน์พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศภายใต้ Thailand vision : IGNITE THAILAND ทั้งนี้แผนดังกล่าวได้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ
ตั้งแต่การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกของ Skytrax ภายในปี 2029 (อันดับ 58 ในปี 2024), การเพิ่มปริมาณผู้โดยสารต่อเครื่องบิน, การพัฒนาขีดความสามารถและการให้บริการของสนามบินทั่วประเทศ จนถึงการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางอากาศ และการใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF)
ปัจจุบัน ฮับการบินชั้นนำระดับโลกต่างกระจายตัวอยู่ตามจุดภูมิศาสตร์สำคัญของโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศขนาดใหญ่ และมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาเพื่อต่อเครื่องบินในสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับผู้โดยสารทั้งหมด เช่น สนามบินชางงีในสิงคโปร์มีสัดส่วนราว 30% สนามบินดูไบใน UAE มีสัดส่วนราว 45% และสนามบินฮะมัดในกาตาร์มีสัดส่วนราว 60%
สำหรับไทยนั้น ถือว่ามีระดับขีดความสามารถในการขนส่งทางอากาศที่สูงจากจุดแข็งสำคัญในเรื่องตำแหน่งทางภูมิศาสตร์กับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียในปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของ OAG ผู้ให้บริการข้อมูลการบินทั่วโลกระบุว่า ในปี 2023 สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับการบินอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน อีกทั้ง ยังมีปริมาณไฟลต์บินตรงกว่า 134 จุดหมายปลายทางทั่วโลกโดยเฉพาะภายในเอเชีย
อย่างไรก็ดี สัดส่วนผู้โดยสารต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิคาดว่ายังอยู่ที่ราว 20% และมีเครือข่ายเส้นทางบินน้อยกว่าหลายฮับการบินชั้นนำ รวมถึงอันดับของสนามบินด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการยังไม่สูงนัก
SCB EIC มองว่าไทยมีความพร้อมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะพัฒนาเป็นฮับการบินของภูมิภาคได้ โดยประเมิน 5 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นผู้นำของภูมิภาค พร้อมรองรับการขนส่งทางอากาศของโลกในอนาคตที่จะมีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นศูนย์กลาง
(1)ประสิทธิภาพในการให้บริการและการเชื่อมต่อของสนามบิน เนื่องจากเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกเข้ามาให้บริการของสายการบิน ตั้งแต่การบริการภาคพื้นดิน การบริการภายในสนามบิน การบริการอาหาร จนถึงการส่งต่อผู้โดยสารที่เชื่อมต่อกับเมืองหรือกับสนามบินในประเทศอย่างไร้รอยต่อ โดยจะต้องผสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐด้วยกันเองและกับภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับการให้บริการและลดต้นทุน เช่น Automation, Generative AI และ Personalization
(2)ความเข้มแข็งของสายการบินสัญชาติไทยทั้งแบบ Full-service และ Low-cost ดังเช่นสายการบิน Qatar Airways, Emirate และ Singapore Airlines ที่เป็นสายการบินชั้นนำของโลกจากคุณภาพบริการและเส้นทางบินที่เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางมากกว่า 100 แห่งในหลายทวีปทั่วโลก
ทั้งนี้จากรายงานของ OAG พบว่าสนามบินที่มีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศมากที่สุด (Megahubs) ของโลก 10 อันดับแรกพึ่งพาเที่ยวบินจากสายการบินหลักของประเทศเฉลี่ยถึงราว 50% ในขณะที่ไทยยังพึ่งพาไม่มากและยังขาดเที่ยวบินตรงไปยังหลายจุดหมายปลายทางสำคัญของโลกโดยเฉพาะในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา ซึ่งปัจจุบันการให้บริการมีความคุ้มค่ามากขึ้นจากประสิทธิภาพเครื่องบินรุ่นใหม่ แต่ทั้งนี้จะต้องอาศัยการเจรจาสิทธิการบินจากภาครัฐควบคู่ไปด้วย
(3)ความต่อเนื่องในการพัฒนาสนามบินและโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง จากที่ผ่านมามักติดปัญหาด้านความล่าช้าในการพัฒนา จึงควรมีมาตรการที่ช่วยให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อปลดล็อกขีดจำกัดในการให้บริการของสนามบินไทยที่ค่อนข้างหนาแน่นแล้วในขณะนี้ และสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต โดยอาจจะกำหนดให้เมื่อความหนาแน่นผู้โดยสาในช่วงเวลาเร่งด่วนเกินความจุที่รองรับได้แล้ว จะต้องขยายพื้นที่เพิ่มภายในเวลาที่กำหนด
(4)การสร้างฮับการบินที่โดดเด่นด้าน ESG ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกและอุตสาหกรรมการบินให้ความสำคัญ โดยอาจเริ่มจากการเสนอบริการที่รองรับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมหรือแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การให้บริการน้ำมัน SAF การพัฒนาสนามบินสีเขียว และการพิจารณาหาโอกาสจากค่าชดเชยคาร์บอนที่สายการบินต้องจ่าย ซึ่งจะทำให้การบินตรง (Point-to-Point) มีความคุ้มค่ามากขึ้น
(5)การเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากปัญหา Disruption ที่สูงขึ้นทั้งจากภัยพิบัติ โรคระบาด และภูมิรัฐศาสตร์ เช่น
5.1)การออกแบบฮับการบินที่มีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างสนามบินหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และระหว่างหลายสายการบิน เพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขนส่งที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับสนามบินหรือสายการบินได้อย่างรวดเร็ว
5.2)การคงความสำคัญของการบินแบบ Point-to-Point เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเส้นทางมากกว่าแม้จะต้องเพิ่มปริมาณเที่ยวบินที่เข้ามาต่อเครื่องเพื่อเป็นฮับการบินก็ตาม อีกทั้ง การบินตรงยังกำลังเติบโตตามเทคโนโลยีเครื่องบินรุ่นใหม่ที่บินได้ไกลขึ้นและประหยัดน้ำมันมากขึ้น และตามการเติบโตของสายการบิน Low-cost หลายรายที่เป็นจุดแข็งของไทยและ
5.3)การขยายการขนส่งสินค้าทางอากาศ จะช่วยกระจายความเสี่ยงในธุรกิจโดยเฉพาะบทเรียนจากโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งผู้โดยสารหยุดชะงักลง ด้วยการผลักดันให้ไทยเข้าไปอยู่ใน Global Supply Chain การขนส่งสินค้าทางอากาศในการเป็นแหล่งผลิตและนำเข้า-ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี ผลไม้ ดอกไม้ และในธุรกิจ Cross-border e-Commerce มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเจรจาด้านสิทธิการบิน การพัฒนาบุคลากรทางการบิน รวมถึงการโปรโมตและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยเพื่อดึงดูดผู้โดยสารที่เข้ามาต่อเครื่อง
สุดท้าย การเป็นฮับการบินภูมิภาคของไทยจะเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในมิติการท่องเที่ยวในกลุ่มโรงแรม ขนส่ง ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ในมิติการค้าการลงทุนจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ การจัดประชุมนานาชาติ และในมิติการก่อสร้างจากภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งล้วนช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตของประเทศ ตลอดจนการจ้างงานและการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2567