เอคเซนเชอร์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการ อัจฉริยะ ฝึกทักษะแรงงาน 2 หมื่นคน เสริมธุรกิจดิจิทัล
อาคม-หอการค้า ปลื้ม “เอคเซนเชอร์” ลงทุนไทยเปิดศูนย์ปฏิบัติการ อัจฉริยะ เพื่อธุรกิจ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ป้อนตลาด 2 หมื่นคน ภายใน 3 ปี ดันทักษะเอไอ คลาวด์ ดาต้า เมต้าเวิร์ส ต่อยอดเทคโนโลยี อุตสาหกรรม หลังตลาดไอที ดิจิทัลไทยเติบโตสูงถึง 10% ปี 2565
วันที่ 10 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวระบุ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานงานเปิดศูนย์ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ หรือ Accenture Intelligent Operations Center (AIOC) อาคารสาทร ไพร์ม
โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน ตลอดจนสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ interactive และ immersive
โดยนายอาคม เปิดเผยว่า การที่เอคเซนเซอร์ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลและเป็นบริษัทที่ช่วยทรานฟอร์มองค์กรธุรกิจเฉพาะทางได้มาเปิดศูนย์แห่งนี้ โดยเลือกเข้ามาตั้งศูนย์ในประเทศไทย ย่านสาทร ใจกลางกรุงเทพมหานคร ทำให้เห็นว่าต่างชาติยังมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยอยู่ ไม่ใช่เป็นอย่างที่หลายฝ่ายพูดว่า ไทยไม่ได้อยู่ในเรด้าของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นคำพูดที่เจ็บปวด
ซึ่งจากการเข้ามาตั้งศูนย์ดังกล่าวยิ่งทำให้มั่นใจว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางศูนย์ที่ตั้งเป้าพัฒนาบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อผลิตบุคคลากรป้อนตลาดแรงงาน จำนวน 2 หมื่นคน จะสำเร็จได้ภายใน 3 ปี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของไทย แม้เป็นเรื่องที่ท้าทายแต่สามารถเป็นไปได้แน่นอน
“ที่เรามั่นใจเนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาเรื่องดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด คนไทยมีการเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น และเข้าใจในแพลตฟอร์มดิจิตอลต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับธุรกิจทำให้ประหยัดต้นทุนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งเอคเซนเชอร์ ได้เข้าดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก จะมองปัจจัยที่ประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ 1.คน ที่ประกอบด้วย ผู้บริโภค และลูกจ้าง 2.ธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ประเทศไทยให้ความสนใจ อีกทั้งกระทรวงการคลังได้มีนโยบายในเรื่องของการช่ายเหลือด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และ 3.การผลักดันเทคโนโลยี ดังนั้น จึงเชื่อว่าเป้าหมายในการผลิตแรงงานในจำนวนดังกล่าวเป็นไปได้แน่นอน” นายอาคม กล่าว
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจในประเทศ มีความยินดีตั้งศูนย์ปฎิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้พูดคุยกับ เอคเซนเซอร์ ว่าหาก 2-3 ปีข้างหน้า สามารถหาคนเก่งและอัจฉริยะจากประเทศต่างๆ มาทำงานในไทย 2 หมื่นคน จะเป็นโอกาสเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากไทยยังมีบุคลากรทักษะเฉพาะทางจำนวนไม่มาก แต่ในอนาคตหากจะนำคนหนุ่มคนสาวที่จบใหม่มาฝึกฝนทางด้านนี้เข้ามาจะสามารถช่วยได้อีกมาก ซึ่งคาดว่าจะมีบุคลากรที่มาจากประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การที่เอคเซนเซอร์ได้เปิดศูนย์นี้ขึ้นเนื่องจากเราเล็งเห็นศักยภาพและความโดดเด่นของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน อันดับแรก ตลาดไทยเป็นตลาดที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จากตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของตลาดไอทีและดิจิทัล ซึ่งจะโตถึง 10% ในปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทั้ล ตั้งเป้าให้ไทยเป็นความหวังใหม่เป็นศูนย์รวมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่เอคเซนเชอร์ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราเห็นความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือมีความต้องการด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและความสามารถในการทำงานของบุคคลากรไทย เราจึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจให้กับลูกค้าองค์กร สนับสนุนเป้าหมายในการพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ขานรับกรอบการทำงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 รวมถึงการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ตลอดจนการพัฒนาคน และการสร้างโอกาสสำหรับแรงงานในอนาคตที่เพียบพร้อมไปด้วยทักษะอันเป็นประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศแล้วนั้น ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย
“ในฐานะองค์กรธุรกิจ เราได้ลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลกในโครงการฝึกอบรมและพัฒนาการเรียนรู้ในแต่ละปี เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของเรามีความพร้อมด้านทักษะและได้พัฒนาขีดความสามารถให้สูงขึ้น ในด้านที่สอดรับกับการเติบโตในยุคดิจิทัล บริษัทให้พนักงานพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ คลาวด์ ดาต้าและเมต้าเวิร์ส รวมถึงให้โอกาสไม่จำกัดในการนำทักษะดังกล่าวไปใช้และต่อยอดให้กว้างยิ่งขึ้น ครอบคลุมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย พนักงานจึงได้รับการสนับสนุนเต็มที่ในการยกระดับ ขยายความเชี่ยวชาญ และชำนาญ
เฉพาะด้านในสาขาต่างๆ ต่อไป”
มร.สุวาสิส มอฮาพัตรา กรรมการผู้จัดการ หน่วยงานโอเปอเรชั่นส์ เอคเซนเชอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเสริมว่า “ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ หรือ AIOC จะให้บริการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ เสริมให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนองค์กร พร้อมบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถนำระบบดิจิทัลไปใช้ได้รวดเร็วขึ้น มีการบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก และช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีในทุกสถานการณ์ ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับหน่วยธุรกิจในทุกภาคส่วนขององค์กร ไม่ว่าจะในด้านการเงิน จัดซื้อ ซัพพลายเชนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน การตลาด และการบริหารงานขาย เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 สิงหาคม 2565