เฟตต้า เปิด 11 ข้อเสนอสมุดปกขาวถึงรัฐ ชี้หนุนเมืองรองต้องเร่งประชาสัมพันธ์
รายงานข่าวจากสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ FETTA (เฟตต้า) ระบุว่า เฟตต้าเตรียมส่งมอบสมุดปกขาว (ไวท์ เปเปอร์) รวบรวมข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวไทยถึงรัฐบาลเร็วๆ นี้ เพื่อรองรับการประกาศการท่องเที่ยวไทยเป็นวาระแห่งชาติ และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลกตามนโยบายของรัฐบาล หลังระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคเอกชนท่องเที่ยวโดยมี 11 ข้อเสนอ ได้แก่
1)จัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐที่มีเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคเสมือนทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้ข้อมูล ความเคลื่อนไหว และเสนอแนะแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมให้ฝ่ายนโยบายคอยพิจารณาเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย
2)จัดทำแผนการพัฒนาและตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านซัพพลาย ควบคู่กับด้านดีมานด์ ภายใต้เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศด้วยการกระจายรายได้ และความเจริญที่มีความสมดุลทั้งในสังคมเมืองและชนบท โดยจัดทำแผน Thailand Tourism Carrier Capacity Blueprint ที่เป็นการทำงานร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการทำร่วมกันเพื่อจัดวางพัฒนาการท่องเที่ยวไปในทิศทางเดียวกันบนศักยภาพที่มีให้เกิดเอกภาพในขับเคลื่อนร่วมกันในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
3)ขับเคลื่อนการแก้ไขข้อกฎหมายด้านแรงงานการท่องเที่ยวในตำแหน่งที่ขาดแคลนและคนไทยไม่ยอมรับในตำแหน่งงานนั้นๆ เพื่อหาแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน
4)การอำนวยความสะดวกการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศ การเพิ่มเที่ยวบิน และกระจายนักท่องเที่ยวสู่สนามบินในภูมิภาคด้วยมาตรการยกเว้นวีซ่า การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และการบริการภาคพื้นในสนามบินต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนเที่ยวบินภายในประเทศให้มีอัตราที่ถูกลงจากการเพิ่มสายการบินเข้าสู่ตลาดการแข่งขันให้ปริมาณเพียงพอและกระจายตัวเป็นทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น
5)การส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการด้านการใช้งานดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณใช้ซอฟต์แวร์ที่ต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันและรองรับความเปลี่ยนแปลงของด้านแข่งขันของการท่องเที่ยวโลก
6)การออกแบบเส้นทางหรือแหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกเดือดที่ทำให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวจากอาการฮีตสโตรก (Heat Stroke) เช่น โครงการนำร่องแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของรัฐในเวลาเย็นและค่ำ โดยมีระบบการบริการและความปลอดภัยรองรับที่ดี
7)การแก้ไขกฎเพดานการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดประชุมสัมมนาที่ไม่ได้ปรับปรุงมานาน เพื่อสอดรับกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ
8)การจัดตั้งงบประมาณพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้ภาคเอกชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการบริหาร และ เป็นกองทุนที่นำมาใช้บริหารจัดการภาวะวิกฤติด้านการท่องเที่ยวโดยตรง จากการประเมินตัวนักท่องเที่ยวในแต่ละปี เช่น ปี 2567 เป้าหมาย 35 ล้านคน คนละ 100 บาท ประมาณ 3,500 ล้านบาทเป็นงบประมาณตั้งต้น
9)จัดทำโครงการพื้นที่นำร่องจากนโยบาย การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดหลัก โดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายควบคู่กัน และมีคณะกรรมการร่วมช่วยกันประเมินและคอยปรับปรุงให้ต้นแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้งานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อยกระดับดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (TTDI) ซึ่งเป็นจุดอ่อนในปัจจุบันที่เป็นรูปธรรม
10)การแก้กฎหมาย พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปัจจุบันที่มีปัญหามากมายในการบังคับใช้และเป็นช่องโหว่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในด้านโครงสร้างและการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายในเชิงธุรกิจอย่างเร่งด่วน
11)มาตรการส่งเสริมการตลาดในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เมืองรอง และช่วงโลว์ซีซัน ทั้งตลาดในและต่างประเทศ
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนเมืองรองผ่านมาตรการทางภาษีทั้งนิติบุคคลและนักท่องเที่ยวทั่วไป อย่างการหักรายจ่ายในส่วนการประชุมสัมมนาเมืองรอง และการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุนท่องเที่ยว และได้ประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนที่เสียภาษี
แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวก เนื่องจากเมืองรองหลายเมืองมีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยว แต่โครงสร้างพื้นฐานต้องพัฒนาเพิ่ม รวมถึงรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุนเที่ยวเมืองรองที่ออกมานี้มากขึ้นอีก เพราะตอนนี้ยังรู้กันในวงจำกัด อาทิ ทำรายละเอียดการใช้จ่าย ตัวอย่างการสนับสนุนด้านภาษี ส่งเวียนให้สมาคมท่องเที่ยวช่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มการรับรู้มากขึ้นได้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มิถุนายน 2567