3 ปัจจัยหลัก ป่วนตลาดหุ้นทั่วโลก
วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม ถือเป็น “แบล็กมันเดย์” สำหรับตลาดหุ้นโตเกียวโดยแท้ เพราะดัชนีหุ้นนิกเคอิ ร่วงลงแบบไม่มีอะไรรองรับ ติดลบไป 4,457.28 จุด หรือราว 13 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าการร่วงของตลาดเมื่อตอนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 1987 ด้วยซ้ำไป
นี่เป็นการร่วงลงต่อเนื่องของตลาดเป็นวันที่สามติดต่อกัน นับตั้งแต่ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25 เปอร์เซ็นต์ แถมยังส่งสัญญาณด้วยว่าอาจจะมีการปรับขึ้นต่อไปอีกในปีนี้ ซึ่งส่งผลในวันต่อมาในทันที โดยดัชนีนิกเคอิร่วงลงมา 5.8 เปอร์เซ็นต์ ในวันถัดมา
ที่น่าสนใจก็คือ การเทขายหุ้นขนานใหญ่ในญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังจากที่ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีต ดิ่งลงหนักส่งท้ายสัปดาห์เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันนั้น ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีแนสแดค ติดลบไปกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไล่ตั้งแต่ไต้หวันไปยันเกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ หลายคนคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มว่าตลาดวอลล์สตรีตอาจรับช่วงต่อการเทขายต่อเนื่องเช่นนี้อีกระลอกในทันทีที่เปิดตลาด
อะไรกันคือปัจจัยที่ทำให้จู่ ๆ นักลงทุนทั่วโลกพากันเทขายกันจ้าละหวั่นเช่นนี้
ผู้เชี่ยวชาญในด้านตลาดทุนและตลาดเงิน เชื่อว่ามีปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการที่ประกอบกันกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดภาวะแตกตื่น เทขายหุ้นกันจ้าละหวั่นในเวลานี้ แรกสุดคือการได้ตระหนักว่า สิ่งที่นักลงทุนเคยคาดหวังไว้สูงมากเกี่ยวกับพลังในการฉุดลากเศรษฐกิจของเทคโนโลยี เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ นั้นไม่ได้มีอยู่จริง
ความคาดหวังที่ดันให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง อัลฟาเบท, แอมะซอน, แอปเปิล, เมทา และไมโครซอฟท์ พุ่งสูงในช่วง 10 วันที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าฟองสบู่ เมื่อมีการเปิดเผยผลประกอบการออกมาให้เห็น แม้รายได้ของบริษัทอย่าง อัลฟาเบท และไมโครซอฟท์ จะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันเอาไว้ แต่ก็ยังต่ำกว่าที่บรรดานักลงทุนคาดหวังกันมากนัก สุดท้ายความหวังในเทคโนโลยีเอไอก็กลายเป็นไอระเหยหายไปในพริบตา
ทั้งหมดนั้นไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเนื่องไปถึงบริษัทผู้ผลิตชิป ที่ได้รับความสนใจตามไปด้วยเพราะเชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังพลังของเอไอ ย่อมต้องรุ่งโรจน์ตามไปด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงแต่เท่านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันปีนี้ ยังแสดงท่าทีที่ไม่เป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เท่าใดนัก ทรัมป์กล่าวเมื่อ 17 กรกฎาคม ชี้ว่า ไต้หวันควรลงทุนเพื่อการป้องกันตัวเองจากจีนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อ ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลกสัญชาติไต้หวัน เมื่อบวกกับแผนของสหรัฐอเมริกาที่จะจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปไปยังจีน ยิ่งทำให้อนาคตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้เรียวลงมากขึ้นไปอีก
ปัจจัยถัดมาที่ทำร้ายความรู้สึกของนักลงทุนมหาศาลพอ ๆ กันก็คือ สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่เดิมนักลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ตรงกันข้ามกลับถือเป็นข่าวดีเสียด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่า อะไรก็ตามที่เป็นข่าวร้ายต่อเศรษฐกิจอเมริกัน จะยิ่งผลักดันให้ เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นและมากขึ้น
ความรู้สึกดังกล่าวนั้นเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐออกมาเมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา การณ์กลับกลายเป็นว่า ข่าวร้ายไม่ใช่ข่าวดีอีกแล้ว แต่ยังคงเป็นข่าวร้ายอยู่วันยังค่ำ
รายงานการจ้างงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อัตราว่างงานในสหรัฐอเมริกาเวลานี้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแค่ 114,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ที่ 175,000 ตำแหน่งอยู่มากโข นี่ทำให้นักลงทุนแทนที่จะคิดถึงการปรับลดดอกเบี้ย กลับได้ตระหนักในความเป็นจริงที่ว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจอเมริกันที่เคยคิดกันว่าสามารถหลีกเลี่ยงได้แล้วนั้นกลับมามีความเสี่ยงสูงอีกครั้งหนึ่ง แน่นอน เศรษฐกิจถดถอยย่อมน่ากังวลกว่าการมีเงินกู้ราคาถูกมาให้ลงทุนมากมายนัก
ปัจจัยสุดท้าย ก็คือการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อ 31 กรกฎาคม ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อบริษัทญี่ปุ่น อย่าง ฮิตาชิ โซนี่ หรือโตโยต้า โดยอัตโนมัติ เพราะบริษัทเหล่านี้มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งสิ้น
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เงินเยนที่พุ่งสูง ทำให้การทำ “แคร์รีเทรด” หายไป ในขณะที่ทำให้มูลค่าหนี้ที่ญี่ปุ่นต้องชำระเพิ่มสูงขึ้น ดุลการค้ากลายเป็นติดลบไปในที่สุด
นักสังเกตการณ์บางคนชี้ว่า แม้แต่ราคาทองคำก็แสดงออกแปลก ๆ ในครั้งนี้ แทนที่จะสูงขึ้นเมื่อนักลงทุนหันมาลงทุนในทองคำแทนตลาดหุ้น เหมือนปกติทั่วไป กลับอ่อนตัวลงมามากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์
ตีความกันไว้ว่า นั่นเป็นเพราะนักลงทุนจำเป็นต้องเทขายทองคำในมือทิ้ง ไม่ใช่เพราะอยากขาย แต่เพราะจำเป็นต้องขายเพื่อให้ได้เงินสดไปใช้รับมือวิกฤตนั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 สิงหาคม 2567