เปิดแผนกู้ "วิกฤตเศรษฐกิจลาว" หนี้ท่วม กีบไร้ค่า เงินเฟ้อพุ่ง
วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจลาวกับความเสี่ยงจาก หนี้สิน เงินเฟ้อ กีบไร้ค่า การพึ่งพาจีน และแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่
ประเทศในเอเชียใต้อีกประเทศหนึ่งกำลังประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากจีน “สปป.ลาว” ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรจำนวน 7.53 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ประมาณ 2,088 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.7%
ธนาคารโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ ปานกลางระดับต่า (Lower – Middle Income) กำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนักจนเกือบถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ หนี้สินรวมของประเทศพุ่งสูงถึง14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่า 100% ของ GDP วิกฤตครั้งนี้ยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากเงินสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง ซึ่ง เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่1,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อประจำปีของประเทศยังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีที่ 23.6% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงยารักษาโรคและอาหารจำเป็น ทำให้ชาวลาวต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างยากลำบากมากขึ้น
"หนี้ต่างประเทศ" เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า :
สิ่งที่น่ากังวล คือ "หนี้ต่างประเทศ" ของลาวที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในหนึ่งปีเป็น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็น "หนี้จีน" สำหรับการลงทุนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) สาเหตุหลักของปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของลาวคือการกู้ยืมเงินมากเกินไปอย่างชัดเจน
ลาวกำลังพยายามเลื่อนการชำระหนี้กับเจ้าหนี้รายสำคัญเพื่อให้มีเวลาชำระหนี้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนหนี้สินมหาศาลเป็นทุน ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากปัจจุบันลาวมีภาระหนี้สินสูงมาก โดยเฉพาะหนี้ที่ค้างชำระกับจีน ซึ่งลาวและจีนมีการเจรจาขอผ่อนผันการชำระหนี้กันเป็นประจำทุกปี
สกุลเงินกีบของลาวที่เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลาวมีหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สูงถึง 59% ของปริมาณหนี้ต่างประเทศทั้งหมด โดยตลอดปี 2566 ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงไปแล้ว 31% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ ธนาคารโลก ระบุว่า การเสื่อมค่าลงของค่าเงินกีบจะยิ่งทำให้การชำระหนี้ยากลำบากมากขึ้น
หนี้สิน เงินเฟ้อ กีบไร้ค่า การพึ่งพาจีน :
ดร.วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล ประธานคณะที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ ธนาคารร่วมพัฒนา สปป.ลาว กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เศรษฐกิจของลาวในช่วงที่ผ่านมาโดยก่อนโควิด 10 ปี เศรษฐกิจลาวเติบโตโดยเฉลี่ย 8-9% เเต่มาเริ่มสะดุดช่วงโควิด โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าลาว-จีน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลาว
ส่งผลให้อัตราการเติบโตของประเทศลดลงอย่างค่อนข้างมาก เหตุผลอีกอย่างก็คือ ลาวไม่ได้พัฒนาแหล่งรายได้อื่นเลยนอกจาก "ไฟฟ้า" หรือที่เรียกว่า “แบตเตอรี่เอเชีย” ลาวให้ใบอนุญาตในการทําเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมากราว 100 ใบอนุญาต เพื่อจะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
"โควิดปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ เศรษฐกิจก็ชะงัก รายรับไม่เข้า รายได้ที่เคยมีจากไฟฟ้า ส่งออกไม้ ก็เหลือไฟฟ้าอย่างเดียว พอรถไฟความเร็วสูงเสร็จประจวบเหมาะกับถึงเวลาก็ต้องชําระหนี้คืน ซึ่งลาวไม่ได้เตรียมพร้อม"
ดร.วิวัฒน์ อธิบายในประเด็นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ ในช่วงโควิดรัฐบาลลาวออกพันธบัตรจำนวนมาก ซึ่งถึงรอบที่จะต้องมีการไถ่ถอน เเต่เมื่อค่าเงินกีบที่ลดลง ซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อ เนื่องจากเกิดสงครามขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น เศรษฐกิจอ่อนแอลงทันที
"ผมเป็นห่วง คือค่าเงินกีบไปตกอยู่ที่ 650 ถึง 700 กีบต่อหนึ่งบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้วค่าเงินกรีบหนึ่งบาทต่อ 250 กีบ แต่ตอนนี้แสดงว่าค่าเงินจริงลดลงไปเกือบ 3 เท่าตัว
เลยกดดันทําให้ต้องลดค่าเงิน ประเด็นสําคัญคือ ความเร่งด่วนของรัฐบาลลาวควรทําให้เงินกีบคงที่ เพราะว่านักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในลาวตอนนี้สิ่งที่ผวาที่สุดไม่ใช่เพราะค่าเงินอ่อน เเต่กลัวว่าจะอ่อนกว่านี้ จะทำอย่างไรถึงสร้างความมั่นใจ"
ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน ลาวได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการ Belt and Road Initiative อย่างมากมาย ถนน สะพาน และเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับจีนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว แต่ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์นี้ก็ทำให้ลาวต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีการพึ่งพาจีนมากเกินไป ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไปจนถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ ด้าน โครงการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นโอกาสในการพัฒนา แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดภาระหนี้สินที่มากขึ้นเช่นกัน เมื่อค่าเงินลาวอ่อนค่าลงและเงินเฟ้อสูงขึ้น
"ลาวมีโลเคชั่นนะทางภูมิศาสตร์สําหรับจีน ดังนั้นประเทศจีนปล่อยลาวไปไม่ได้ ผมมองว่าจีนยังมีอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียน จีนจึงต้องเข้ามาแล้วก็พยายามจะขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุน อย่าง Belt and Road ตอนนี้ในลาว ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดก็คือจีน ก็เลยสร้างแรงจูงใจให้กับรัฐบาลลาวว่ามาร่วมกัน รถไฟทั้งเส้นค่าใช้จ่ายตั้ง 6.7 พันล้านเหรียญ จีนก็เลยเสนอเงื่อนไขว่าจะถือหุ้น 70% ลาวถือ 30% ส่วนการก่อสร้างมีการใช้คนงานประมาณ 140,000 คน เเต่จ้างคนลาวแค่ 4,000 คนเท่านั้น เครื่องมือ เครื่องมือ เครื่องจักร เเม้เเต่ทีมบริหารก็เป็นของจีนหมด"
ถามว่าโครงการนี้มีความจําเป็นไหม ในความคิดของ ดร.วิวัฒน์ มองว่า รัฐบาลตัดสินใจถูกที่ลงทุนในรถไฟความเร็วเพราะลาวไม่เคยมีรถไฟ สภาพถนนในลาวค่อนข้างแย่ จึงอุปสรรคต่อการขนส่ง เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงลาวจึงได้เปรียบมากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในแง่การขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้า แต่ปัญหาก็คือความพร้อมของประเทศในการชําระคืนหนี้
"ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงทำให้ลาวเป็นหนี้ก้อนใหญ่สําหรับขนาดของประเทศลาวแต่ก็ต้องมองว่าลาวต้องการจะอัพเกรดประเทศขึ้นมาจากประเทศด้อยพัฒนากลายเป็นประเทศกําลังพัฒนา ดังนั้นการลงทุนในอินฟราสตรัคเจอร์ดีสําหรับประเทศในระยะยาวมีความจำเป็น เเละไม่ได้เป็นการฟุ่มเฟือย แต่จะมีปัญหาก็คือกระแสเงินสดความสามารถในการชําระหนี้ ซึ่งมองว่าลาวยังทำได้ไม่ดีพอ"
แม้ว่าเศรษฐกิจลาวจะอยู่ในช่วงวิกฤติ แต่รัฐบาลลาวก็พยายามหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการตั้งธนาคารทองคำ เเละกําลังจะเปิดธนาคารแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมามั่นคงอีกครั้ง และช่วยให้ธุรกิจในประเทศลาวเดินหน้าได้ แต่สิ่งนี้ก็ยังมีความเสี่ยงเช่นกัน หากธนาคารทองคำไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่คาดหวัง ความไม่มั่นคงทางการเงินก็อาจเกิดขึ้นได้
"ธนาคารทองไม่ใช่รัฐเป็นคนทํา เเต่เป็นเอกชนไปขอ License รัฐมีหุ้นด้วยประมาณ 15% นโยบายของธนาคารทองคําไม่ชัดเจนจึงคิดว่าธนาคารทองไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เเต่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจมากกว่า ผมว่ามองถ้าทองคําซึ่งมีในลาวจำนวนมาก รัฐบาลบอกว่าต้องการทองคํามาเป็นทุนสํารองก็เอาออกพันธบัตร ให้เก็บไว้ 5 ปี เเล้วมาถอนเอาทองคืน ถ้าเป็นนโยบายแบบนี้อาจจะช่วยได้เพราะเพิ่มทุนสํารองได้"
สิ่งที่ลาวต้องทำจากมุมมองของนายแบงก์ :
ดร.วิวัฒน์ ให้คำแนะนำที่ชวนให้คิดตามในประเด็นที่รัฐบาลลาวจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องล่มสลาย เศรษฐกิจพังลง สิ่งเเรกคือ การใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงการค้าและการเดินทาง โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยว การเพิ่ม Incentive จูงใจการลงทุน สร้างเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ หรือสิ่งที่ผลิตได้ภายในประเทศอะไรให้มากขึ้น เนื่องจากลาวเป็นประเทศที่มีประชากรไม่มา เเละไม่ได้พึ่งพาการผลิตเป็นสังคมซื้อกินซื้อใช้จึงทำให้เงินไหลออกเป็นเรื่องธรรมดาจึงต้องหันมาพัฒนาหรือปลูกพืชภายในประเทศโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตรได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูง
เส้นทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจลาวนั้นยังคงยาวไกล แต่ ดร.วิวัฒน์ ยอมรับว่ามีความพยายามจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหวังว่านโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่จะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจลาวกลับมาได้ถึงเเม้จะต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี- 5 ปี อยู่ที่ว่าจะตั้งทําอย่างจริงจังแค่ไหน?
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 สิงหาคม 2567