ธุรกิจยุโรปมอง "อาเซียน" อยู่ในยุคทอง แต่ต้องเร่งแก้จุดอ่อนที่บั่นทอนเสน่ห์
ในมุมมองของนักธุรกิจชาติตะวันตก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" กำลังอยู่ใน "ยุคทอง" แห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุมมองนี้อาจจะมีออกมาให้ได้ยินบ้างแล้วในปีก่อนนี้ แต่ล่าสุด อาเซียนได้รับข่าวดีที่อัพเดตใหม่ว่า มุมมองของผู้นำธุรกิจชาติตะวันตกที่มีต่ออาเซียนในปีนี้ยังไม่เปลี่ยนไป-ไม่แย่ลง ยังคงครองสถานะภูมิภาคที่มีโอกาสโตดีสุดในระยะสั้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจเกือบ 400 ราย จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการสำรวจความเชื่อมั่นประจำปีของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน ซึ่งถือเป็นมาตรวัดมุมมองของบริษัทในยุโรปต่อการดำเนินธุรกิจในอาเซียน ว่ามีมุมมองบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน-อย่างไร
ในภาพรวม ผู้นำธุรกิจยุโรปมองว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุดในระยะสั้น หรือช่วง 5 ปีข้างหน้า
ผู้ตอบแบบสำรวจ 9 ใน 10 คาดว่าจะขยายระดับการค้าและการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งนี้ ในขณะที่อาเซียนเป็นตัวเลือกอันดับต้นของธุรกิจยุโรป คู่แข่งอันดับที่ตามหลังมาอันดับแรก ๆ คืออินเดียและจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีแนวโน้มเชิงบวก แต่ความกังวลที่สำคัญก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งผลการสำรวจเน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญหลายประการที่อาจบ่อนทำลายความน่าดึงดูดใจของอาเซียน
ประเด็นข้อกังวลหลักคือ การเพิ่มขึ้นของอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Nontariff Barrier) และการเผชิญหน้ากับอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
ในเรื่อง “ห่วงโซ่อุปทาน” ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 88% ชี้ว่ากระบวนการห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2021
ส่วนเรื่องอุปสรรคในการทำธุรกิจ-การค้า 40% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีภายในอาเซียนกลายเป็นปัญหามากขึ้น มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 2% เท่านั้นที่มองว่ากระบวนการทางศุลกากรมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้กัดกร่อนเสน่ห์ดึงดูดใจของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุน
ในขณะที่ 42% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่ายุโรปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการสนับสนุนการเติบโตของอาเซียนในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ (59%) มองว่าสถาบันในยุโรปจำเป็นต้องเพิ่มระดับการมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนธุรกิจของยุโรปในอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในการสำรวจนี้
นอกจากนั้น ผู้นำธุรกิจยุโรปมองว่า การไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-อาเซียน (FTA อียู-อาเซียน) ทำให้ทั้งสองฝ่ายพลาดโอกาสหลายอย่าง และเป็นข้อกังวลที่สำคัญของธุรกิจยุโรป โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 88% เชื่อว่าการไม่มี FTA อียู-อาเซียน ทำให้ธุรกิจยุโรปเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่ค้าอื่นของอาเซียน
คริส ฮัมฟรีย์ (Chris Humphrey) กรรมการบริหารของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน กล่าวว่า ศักยภาพในการเติบโตของอาเซียนสำหรับธุรกิจยุโรปยังคงไม่มีที่ไหนเทียบได้ เนื่องจากในอาเซียนมีฐานผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อยู่ในที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เป็นเหมือนสี่แยกของการค้าโลก และมีกำลังแรงงานที่มีพลวัต-ไม่หยุดนิ่ง
“อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของธุรกิจยุโรปต่ออาเซียนที่ลดลงเล็กน้อย บ่งชี้ว่าความซับซ้อนในระดับภูมิภาคเริ่มเด่นชัดมากขึ้น หากไม่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนาการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค อาเซียนก็เสี่ยงที่จะสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่ชัดเจนที่จะต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากสถาบันในยุโรป เพื่อสนับสนุนธุรกิจในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และเพื่อให้แน่ใจว่าภูมิภาคนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางชั้นนำของการค้าและการลงทุน” ฮัมฟรีย์กล่าวกึ่งเตือนกึ่งเรียกร้องให้มีการยกระดับความร่วมมือ
ฮัมฟรีย์กล่าวอีกว่า ในขณะที่ระดับการมีส่วนร่วมทางการค้าและการลงทุนของสหภาพยุโรปในอาเซียนอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา การไม่มี FTA ที่ครอบคลุม ถูกมองว่าจะทำให้ธุรกิจของยุโรปเสียเปรียบอย่างมาก เมื่อเทียบกับคู่ค้ากลุ่มอื่น ๆ ของอาเซียน
“ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยปลดล็อกการเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจในยุโรปกระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพอันมหาศาลของอาเซียนอย่างเต็มที่ แต่พวกเขาต้องการการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากสหภาพยุโรป”
“ถึงเวลาแล้วที่จะคว้าโอกาสจากการเติบโตของอาเซียนอย่างจริงจัง” กรรมการบริหารของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียนกระทุ้งรัฐบาลของตนเองให้เร่งเจรจา FTA กับอาเซียน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 กันยายน 2567