ส่งออกปี 67 ลุ้นทุบสถิติแตะ 2.9 แสนล้านดอลล์ ยอมรับบาทแข็งอุปสรรคใหญ่
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัว 6.6% ส่วนการนำเข้าเดือนสิงหาคม มีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.9 % จึงเกินดุลการค้า 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมส่งออก 8 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.2% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5% โดยขาดดุลการค้ารวม 6,351 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในรูปเงินบาท อิงค่าบาท 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การส่งออกเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 939,521 ล้านบาท ขยายตัว 13% การนำเข้า มีมูลค่า 941,019 ล้านบาท ขยายตัว 15% และ ขาดดุลการค้า 1,497 ล้านบาท โดยภาพรวม 8 เดือนแรก การส่งออก มีมูลค่า 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัว 9.9% การนำเข้า มีมูลค่า 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% และขาดดุลการค้า 309,432 ล้านบาท
ปัจจัยกดดันที่มีผลต่อการส่งออก คือ สภาพอากาศแปรปรวนและเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงจนกระทบต่อผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง และ เงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะกระทบโดยตรงทันทีต่อสินค้าที่อ่อนไหวด้านราคาสูง อย่างอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึง สถานการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
“แนวโน้มการส่งออก 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ ถ้าส่งออกได้ตามค่าเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 2.3-2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้เกิน 2% ซึ่งดูจาก 8 เดือนแรกขยายตัวแล้ว 4.2% และไตรมาส4มีโอกาสขยายตัวบวก 1% เบื้องต้นเดือนกันยายนนี้น่าจะได้ 2.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากไทยขยายตัวได้ 2% หรือมีมูลค่าเกิน 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบปี 2565 ที่เคยสูงสุดที่กว่า 2.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท ถ้าเงินบาทอยู่ระดับ 34 บาทต่อเดือนเหรียญสหรัฐ จะเป็นปีที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่สาม หรือใกล้แตะ 11 ล้านล้านบาทได้หากค่าบาทไม่แข็งเกินไป ส่วนที่ว่าบาทแข็งจะทำให้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปแทนนั้น จากข้อมูลสัดส่วนนำเข้า 70%ยังเป็นกลุ่มทุนและวัตถุดิบเพื่อการผลิต ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนแค่ 10% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การเงินแข็งกว่าจะไม่ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาส่งออกของไทย” นายพูนพงษ์ กล่าว
ลงในรายละเอียดการส่งออกในเดือนสิงหาคมปีนี้ ที่มีมูลค่ากลับมาเกิน 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอีกครั้งในรอบปี มาจากปัจจัยการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวสูง 17.4 % โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 17.5% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.1% อาทิ ข้าว บวก 46.6% ยางพารา บวก 64.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป บวก 20.5% อาหารสัตว์เลี้ยง บวก 25% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ บวก 233.6 % ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ส่วนสินค้าหดตัว
อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่สด ผักแปรรูป ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตได้ดี ขยายตัว 5.2% อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าหดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 33.2% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว 34.3 % เป็นต้น
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 กันยายน 2567