ม.หอค้าสำรวจ "ผู้ประกอบการ-ปปช." ดัชนีเชื่อมั่นวูบต่อเนื่อง แนะกระตุ้นศก.ก๊อก 2
ม.หอค้าสำรวจ "ผู้ประกอบการ-ปปช." ดัชนีเชื่อมั่นวูบต่อเนื่อง แนะกระตุ้นศก.ก๊อก2 ลอก "ชิมช้อปใช้-เที่ยวด้วยกัน" แต่เปลี่ยนชื่อได้
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทย เดือนกันยายน 2567 จากประชาชน 2,243 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ระดับ 55.3 ลดลงจากเดือนสิงหาคม ที่อยู่ระดับ 56.5 ทำระดับต่ำสุดรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต ลดลงจาก 40.4 และ 64.3 มาอยู่ระดับ 39.0 และ 63.1 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลงจากสิงหาคม ที่ 50.2,53.9,65.6 มาอยู่ระดับ 48.8,52.7 และ 64.4 ตามลำดับ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นในเดือนกันยายน คือ ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า กระทบต่อค่าครองชีพและรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย กังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์และบรรยากาศสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และเงินบาทแข็งค่ากระทบวิตกมีผลต่อการส่งออก มุมมองต่อบรรยากาศเศรษฐกิจไทยแย่ลงเพิ่มขึ้น จากจุดนี้ทำให้ภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ที่รัฐเติมเงินให้คนละ 10,000 บาท ใช้วงเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ดูเหมือนยังไม่ทำงาน ประชาชนไม่ใช้จ่ายเท่าที่ควร เพราะกังวลเรื่องอนาคตมากขึ้น
“สถานการณ์น้ำท่วม ทำให้เกิดความกังวลว่าจะลุกลามมายังภาคกลาง และกรุงเทพฯ จึงได้กลบข่าวบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง ไปด้วย สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกันยายนต่ำลงมาก ” นายธนวรรธน์ กล่าว
“รัฐบาลควรมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี โดยช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือปีใหม่ ควรจะมีมาตรการกระตุ้นอาจนำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการชิมช้อปใช้ โครงการคนละครึ่ง สำหรับประชาชนทั่วไป แม้ดูเป็นมาตรการของรัฐบาลก่อนหน้า แต่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ เพียงคงคอนเซ็ปต์มาตรการคูณสอง ที่รัฐบาลจ่ายสมทบอีกครึ่งหนึ่ง และประชาชนเพิ่มเงินใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง จะเป็นแรงส่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 ตุลาคม 2567