IMF เตือน "วิกฤติหนี้ท่วมโลก" จ่อแตะ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้
IMF เตือน "หนี้สาธารณะทั่วโลก" พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ใกล้แตะ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้ จนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก หากรัฐบาลต่างๆ ไม่เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า “หนี้สาธารณะทั่วโลก” มีแนวโน้มขึ้นแตะ 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากสหรัฐ และจีน
ในรายงานติดตามทางการคลัง (Fiscal Monitor) ของ IMF ระบุว่า หนี้ทั่วโลก จะเข้าใกล้ 100% ของจีดีพีภายในปี 2573 และเตือนว่ารัฐบาลจะต้องตัดสินใจอย่างหนัก เพื่อรักษาเสถียรภาพของการกู้ยืม โดยคาดว่าหนี้จะเพิ่มขึ้นในสหรัฐ บราซิล ฝรั่งเศส อิตาลี แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร
“การรอคอยโดยไม่จัดการหนี้ทันที มีความเสี่ยง จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่า สภาวะหนี้สูงสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาเชิงลบของตลาด และทำให้พื้นที่ในการปรับงบประมาณใหม่ในกรณีเกิดเหตุการณ์เชิงลบเป็นไปอย่างจำกัด” IMF ระบุ
IMF เสริมว่า “ความเสี่ยงต่อแนวโน้มหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีแรงกดดันทางการเมืองที่ได้ขัดขวางแผนลดการใช้จ่าย รวมถึงยังมีภาระด้านการสนับสนุนพลังงานสะอาด ประชากรสูงอายุ และการเสริมความมั่นคงของประเทศ”
ประเทศที่มีหนี้สูง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้สินทั่วโลก และเกือบสองในสามของจีดีพีทั่วโลก
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด IMF ประมาณการว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ระดับหนี้ของประเทศเหล่านี้อาจพุ่งสูงขึ้นถึง 115% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 20% สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเงินของโลก
“ระดับหนี้สูงในปัจจุบัน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้น ต้นทุนการเงินสูงขึ้นรวมถึงสถานการณ์ระดับหนี้ก็รุนแรงกว่าเดิม” ทาง IMF กล่าว โดยแม้ว่าระดับหนี้สินของประเทศพัฒนาแล้วจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดการระบาดโควิด-19 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 134% ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนากลับมีระดับหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 88% ของจีดีพี
IMF ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวต่ำลง ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกควรเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รวบรวม พบว่ายังขาดความเร่งด่วนในการดำเนินการดังกล่าว IMF ชี้ให้เห็นว่า แผนการปรับปรุงการคลังที่รัฐบาลต่างๆ กำหนดขึ้นในขณะนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะอย่างยั่งยืน และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะทำให้ระดับหนี้ลดลงหรือคงที่ในระยะยาว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 ตุลาคม 2567