ทิศทางเศรษฐกิจโลก-ราคาน้ำมัน หากเกิดศึกอิหร่าน-อิสราเอล
ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามใหญ่เต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง ทวีขึ้นจนถึงจุดสูงสุดเมื่ออิหร่านเปิดฉากถล่มขีปนาวุธเข้าใส่เป้าหมายในอิสราเอลขนานใหญ่เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และอิสราเอลประกาศชัดเจนว่าจะโจมตีตอบโต้
ความขัดแย้งที่ลุกลามขยายวงดังกล่าว ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลกว่า สงครามจะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างตะวันออกกลาง ถูกสกัดกั้น ผลก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นแล้วอย่างน้อย 9%
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนตรงกันว่า หากเกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน แหล่งผลิตที่ป้อนน้ำมันดิบให้กับนานาประเทศทั่วโลกแห่งนี้จะพังทลายลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกอย่างทั่วถึง
ฟาร์ซาน ซาเบท นักวิจัยอาวุโสจาก The Geneva Graduate Institute ระบุไว้เช่นกันว่า หากเกิดการ “ดิสรัปต์” ครั้งใหญ่ขึ้นในภูมิภาคที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน
แต่จะกระทบมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า อิสราเอลจะใช้เป้าหมายใดในการโจมตีเพื่อแก้เผ็ดอิหร่านในครั้งนี้สื่อในอิสราเอลจำนวนไม่น้อยรายงานไว้ตรงกันชี้ว่า อิสราเอล เตรียมตอบโต้ด้วยการโจมตีเป้าหมายที่เป็นแหล่งนิวเคลียร์ หรือไม่ก็แหล่งผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในอิหร่าน เพื่อตอบโต้ต่อการโจมตีดังกล่าว
เดือดร้อนถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต้องออกโรงเตือน แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้แหล่งน้ำมันของอิหร่านเป็นเป้าในการโจมตีตอบโต้ ในขณะที่อิหร่านข่มขู่ออกมาเช่นกันว่า หากมีการโจมตีใด ๆ ต่อระบบสาธารณูปโภคของตน ถือเป็นการยั่วยุ และจะทำให้การโจมตีกลับคืนจะยิ่ง “แข็งกร้าว” มากขึ้นไปอีก
ซาเบทเชื่อว่า หากอิสราเอลโจมตีแหล่งน้ำมันอิหร่านจริง ฝ่ายอิหร่านอาจเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งกดดันต่อ ช่องขนส่งสินค้าและน้ำมันดิบ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่าง ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางที่น้ำมันดิบราว 1 ใน 5 ของน้ำมันที่ออกสู่ตลาดโลกต้องแล่นผ่าน
นีล ควิลเลียม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ ของ Chatham House องค์กรวิชาการอิสระในกรุงลอนดอน ระบุเช่นกันว่า ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นช่องทางขนส่งสินค้าที่ “จำเป็นอย่างยิ่งยวด” ต่อเศรษฐกิจโลก และยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “กาตาร์” หนึ่งในผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ใช้เส้นทางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อการส่งออกก๊าซดังกล่าว
นอกจากนั้นแล้ว นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งยังเชื่อว่า หากอิสราเอลเลือกใช้แหล่งน้ำมันอิหร่านเป็นเป้าหมาย อิหร่านก็อาจแก้เผ็ดด้วยการโจมตีแหล่งน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นพันธมิตรของอิสราเอลแทน ไม่ว่าจะเป็น คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือซาอุดีอาระเบีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบอันดับต้น ๆ ของโลกทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ซาเบทเชื่อว่า วิธีการโจมตีใด ๆ เพื่อโต้กลับของอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซ หรือส่งผลกระทบทางการค้าของโลก จะถูกนานาชาติมองว่า เป็นการแสดง “การก้าวร้าวรุกราน” ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลอิหร่านเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ในขณะที่ ควิลเลียมเชื่อว่า มีแนวโน้มสูงที่อิสราเอลจะเลือกใช้เป้าหมายที่ส่งผลต่อระบอบการปกครองและเศรษฐกิจของอิหร่านโดยตรง มากกว่าจะกระทำการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบโลก
โลกเคยเผชิญกับ “วิกฤตน้ำมัน” ครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1973 เมื่อกลุ่มประเทศอาหรับ พร้อมใจกันห้ามการส่งออกน้ำมันให้กับปฏิปักษ์ในโลกตะวันตก กับอีกครั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในอิหร่าน เมื่อปี 1979
ทั้งสองเหตุการณ์ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งเป็นติดจรวด มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันขึ้นในหลายประเทศ ที่ประชาชนต้องต่อแถวเข้าคิวกันซื้อน้ำมันกันยาวเหยียดเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด เกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลก
แต่ครั้งนี้ต่างออกไป ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า แม้จะเกิดปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผลกระทบก็ไม่น่าจะรุนแรงเท่า จนไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งโลกร่วงลงแบบไร้การควบคุม
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเวลานี้ สหรัฐอเมริกา ก็ผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ป้อนตลาดโลก ในขณะเดียวกัน โลกเองก็พึ่งพาน้ำมันลดลงจากในอดีตมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ซาเบทยอมรับว่า ราคาน้ำมันอาจแพงขึ้น ผู้บริโภคน้ำมันในชาติตะวันตกอาจรู้สึกได้ว่า ต้องจ่ายราคาน้ำมันหน้าปั๊มแพงขึ้น แต่ก็จะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่เคยเป็นในวิกฤตครั้งที่ผ่านมา
ยกเว้นบางประเทศที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกบริโภคน้ำมันสูงมาก เช่น จีน ที่นำเข้าน้ำมันถึงวันละ 1.5 ล้านบาร์เรลจากอิหร่าน คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของน้ำมันดิบที่จีนนำเข้าจากตะวันออกกลางทั้งหมด
ก็จะได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลางสูงกว่าและหนักหน่วงกว่านั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 ตุลาคม 2567