ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ย. ต่ำสุดในรอบปี 67 น้ำท่วมทุบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้าน
ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.ย. 2567 ร่วงแตะระดับ 87.1 ต่ำสุดในรอบปี 2567 เหตุน้ำท่วมทุบเศรษฐกิจอ่วม 30,000-50,000 ล้านบาท แนะรัฐออกมาตรการเศรษฐกิจปลายปี หวังเงินหมื่นเฟส 2 กระตุ้น 3 เดือนสุดท้าย หลังเงินหมื่นรอบแรกกลุ่มเปราะบางเพิ่มการจับจ่ายในประเทศ
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลง จาก 87.7 ในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง 2 เดือนต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบปี 2567
น้ำท่วมทุบเศรษฐกิจอ่วม 3-5 หมื่นล้านบาท :
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท
ขณะที่กำลังซื้อในประเทศลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัวลง ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน สะท้อนจากยอดขายในประเทศช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2567) ของรถยนต์ลดลง 24% และรถจักรยานยนต์ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ส.อ.ท.นำเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 4 ด้าน ได้แก่
1)ด้านการเงิน ประกอบด้วย 1) พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 12 เดือน 2) ลดค่างวด 50% และลดดอกเบี้ย 1% นาน 12 เดือน 3) กู้ซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการได้ 100% ดอกเบี้ยต่ำ 4) เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อหมุนเวียนและฟื้นฟูกิจการจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกองทุนประชารัฐจากกระทรวงอุตสาหกรรม
2)ค่าสาธารณูปโภค ประกอบด้วย 1) ไม่ต้องชำระค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SMEs ประจำเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 2) ยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าบริการทั่วไป สำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SMEs
3)ค่าธรรมเนียมของกระทรวงอุตสาหกรรม ขอขยายระยะเวลาลงทะเบียนโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม จากสิ้นสุด 31 ต.ค. 2567 เป็น 30 พ.ย. 2567
4)ด้านภาษี ประกอบด้วย 1) เครื่องจักรและวัตถุดิบสามารถย้ายออกจากโรงงานไปยังสถานที่อื่นหรือส่งออกในกรณีฉุกเฉินได้ โดยขออนุญาตจากสำนักงาน BOI สามารถกระทำได้ภายหลัง 2) สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากเหตุอุทกภัย 3) ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบที่นำเข้า ตามมาตรา 36 ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย 4) ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในบางรายการ
นอกจากนี้ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบฯลงทุนในโครงการของภาครัฐ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีนยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. 2567 เป็น 33.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย. 2567
“กกร.มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเน้นการส่งออกเป็นหลัก จากที่เคยอ่อน 36 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นมาแข็งค่าที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นกรอบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เหมาะสมอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นเรตที่สามารถแข่งขันได้” นายอิศเรศกล่าว
เงินหมื่นกระตุ้นกำลังซื้อ :
นายนาวายังกล่าวอีกด้วยว่า ปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวน 14.5 ล้านราย ช่วงวันที่ 25-30 ก.ย. 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 8 เดือน 26,005,295 คน ขยายตัว 30% สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มูลค่า 1,214,681 ล้านบาท และภาคการส่งออก ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก อาทิ สหรัฐ จีน อาเซียน ยุโรป อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น
และอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rate) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 67.3% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 48.1%
หวังเงินหมื่นเฟส 2 หนุนเศรษฐกิจสิ้นปี’67 :
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ใน ส.ค. 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
รวมถึงมาตรการ 10,000 บาท เฟส 2 จะหนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การขยายตัวของการท่องเที่ยวในช่วง High Season และอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยในสินค้าปิโตรเคมี ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
แต่มีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนจากลานีญา กระทบต่อวัตถุดิบในภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางเสี่ยงต่อภาคการส่งออก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี
แนะ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% :
1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดความผันผวน รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน
2.ขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ (Real Time)
3.เสนอให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
“ส.อ.ท.อยากเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่คงไว้ 2.5% ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควร มองว่าหากปรับลดลงได้ 0.25% จะสามารถช่วยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้“ นายนาวากล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 ตุลาคม 2567