ระดมมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวเหนือ โรงแรมวอนขอกู้ดอกเบี้ยต่ำรับไฮซีซั่น
รัฐบาลระดมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวภาคเหนือ เผยจ่ายค่าล้างดิน โคลน เพิ่มอีกครัวเรือนละหมื่น ธนารักษ์ลดค่าเช่าที่ 1-2 ปี "ออมสิน-ธ.ก.ส.-SME Bank-ธอส." งัดสารพัดมาตรการอุ้ม ทั้งพักหนี้ ลดวงเงินค่างวด ขยายเวลาชำระ ส่งแคมเปญ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ปลุกเที่ยวไฮซีซั่น "เชียงใหม่-เชียงราย" ขอ Soft Loan-Mega Event ต่อลมหายใจท่องเที่ยว โรงแรมเถื่อนวอนขอเข้าถึงสินเชื่อด้วย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม นอกเหนือจากช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท และค่าช่วยเหลือเรื่องการล้างดิน โคลน ครัวเรือนละ 10,000 บาท ส่วนการยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้นปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการสำรวจ โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะทราบว่ามีอยู่กี่ครัวเรือน
อัดมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม :
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัยและกิจการ ดังนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย
โดยเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย
“ธนารักษ์” ลดค่าเช่า 1-2 ปี :
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี
การเช่าเพื่อการเกษตร ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย
และมีสินเชื่อ Soft Loan เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ ดังนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี
โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน โดยมี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม
ออมสินพักชำระเงินต้น 6 เดือน :
โครงการ SMEs No One Left Behind ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000-2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือลูกหนี้เดิมด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี
ธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้ 20 ปี :
เช่นเดียวกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี
โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลืออัตราดอกเบี้ย MRR และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
ธอส.ลดเงินงวดชำระ 50% :
ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้การช่วยเหลือด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ี่หลักประกันได้รับความเสียหายให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%
สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%
ส่วนการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท
SME Bank พักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย :
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงินจะขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน และยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
ลดภาษีอุปกรณ์สร้างบ้าน :
สำหรับนโยบายที่อยู่ระหว่างการออกระเบียบกฎหมายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน
2.มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม
เล็งให้ซอฟต์โลนภาคท่องเที่ยว :
และ 3.มาตรการสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วง High Season
โดยทั้ง 3 มาตรการอยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศ BOI คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม. ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
เร่ง “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” :
ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” โดยใช้งบฯของ ททท. 400 บาทต่อคน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ประกอบการ และพยายามดึงดูดให้คนไทยไปเที่ยวไทย โดยเบื้องต้นมี 1 หมื่นสิทธิ ถ้าเป็นไปได้ด้วยดีก็จะขยายสิทธิต่อไป
ส่วนหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการนั้นพยายามให้คล่องตัวและให้ประชาชนใช้สิทธิได้ง่าย ซึ่งอยากให้เริ่มได้เร็วกว่า 1 พฤศจิกายนนี้
เชียงรายเสียหายกว่า 2 หมื่นล้าน :
นายภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าจังหวัดเชียงรายได้ประเมินความเสียหายของจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายของทรัพย์สิน บ้านเรือน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ราว 10,000 ล้านบาท และความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกราว 10,000 ล้านบาท
โดยหอการค้าจังหวัดเชียงรายเน้นนำเสนอมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย (Micro SMEs) โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และพิจารณายกเว้นเงื่อนไขบางอย่างให้ SMEs มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ ภาคเอกชนทุกภาคส่วนยังเตรียมระดมความคิดเห็นร่วมกันอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ เพื่อนำข้อเสนอของแต่ละองค์กรมารวมเป็นข้อเสนอเดียวเพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
ดัน Soft Loan-Mega Event :
นายพัลลภ แซ่จิว รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2567 จนถึงขณะนี้ พบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงราว 30% โดยเฉพาะตลาดคนไทยที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
โดยเครือข่ายผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กว่า 15 แห่ง ได้เสนอมาตรการที่อยากได้จากภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย 1.ช่วยลดค่าน้ำและค่าไฟ 50% เป็นเวลา 3 เดือน 2.ลดภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินลง 50% เป็นเวลา 1 ปี 3.เร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาที่ภาครัฐเตรียมไว้โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังเสนอแผนฟื้นฟูเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น คือ 1.ให้นำมาตรการ “คนละครึ่ง” กลับมาใช้ในช่วงไฮซีซั่นนี้ 2.ปลุกตลาดไมซ์โดยให้หน่วยงานราชการ-เอกชนจัดประชุมสัมมนาที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการท่องเที่ยว 3.ลดขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศของคาราวานนักท่องเที่ยวจากจีนที่จะเดินทางเข้ามาโดยรถยนต์ผ่านเส้นทาง R3A เนื่องจากดีมานด์ตลาดกลุ่มนี้กำลังขยายตัว
และ 4.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนบูทฟรี 50 บูท ให้กับผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ ในงาน Thailand Travel Mart Plus 2025 (TTM+2025) เวทีให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยได้นำเสนอสินค้าและการบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งเชียงใหม่จะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
ส่วนระยะกลาง อยากให้ภาครัฐดึง Mega Event มาจัด ทำให้เชียงใหม่เป็นสปอตไลต์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการยกระดับสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ส่วนระยะยาว คือ หนุนศักยภาพด้านการเป็นศูนย์กลางการบินของจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ภาครัฐเจรจากับสายการบินเส้นทางระยะไกลทั้งจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง ให้เปิดเส้นทางบินเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น
ร้านอาหารพันแห่งสูญ 450 ล้าน :
ด้านนายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนร้านอาหารทั้งหมดกว่า 10,000 แห่ง เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเหตุการณ์น้ำท่วมพบว่า ร้านอาหารในเชียงใหม่ได้รับผลกระทบราว 10% หรือราว 1,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม และอำเภอเมือง โดยประเมินมูลค่าความเสียหายราว 450 ล้านบาท
“อยากให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะมาตรการด้านซอฟต์โลน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นหนี้ก้อนเดิมอยู่ เมื่อถูกน้ำท่วมภาระต้นทุนก็เพิ่มขึ้น ไม่มีสภาพคล่อง”
สอดคล้องกับสมาคมท่องเที่ยวฮาลาลไทย จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ และสมาคมที่พักบูติคเชียงใหม่ ที่เห็นด้วยกับมาตรการ Soft Loan เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และนำเงินมาเดินหน้าธุรกิจต่อได้
โรงแรมเถื่อนขอเข้าถึงสินเชื่อด้วย :
เช่นเดียวกับกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมบูติค ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่และถูกน้ำท่วมที่สะท้อนว่าที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะโรงแรมบูติคหลายแห่งยังไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมที่จะนำไปยืนยันกับธนาคารได้ จึงอยากให้มีการยกเว้นเงื่อนไขนี้ โดยพิจารณาองค์ประกอบด้านอื่น ๆ แทน
ขณะที่สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตงกล่าวว่า ปางช้างในอำเภอแม่แตงมีจำนวน 37 ปาง ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 15 ปาง และเสียหายค่อนข้างหนักมาก จึงขอให้ภาครัฐสนับสนุน Soft Loan ให้ผู้ประกอบการได้นำเงินมาฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 ตุลาคม 2567