Thailand Next "เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย"
เวทีสัมมนา "Thailand Next : เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย" คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 อันเนื่องจากสัญญาณต่าง ๆ ของประเทศไทยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า กำลังเข้าสู่ช่วงของการเสื่อมถอยครั้งสำคัญ ที่จะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ พลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ นวมินทกษัตริยาธิราช ร่วมเสวนา
แผนใหญ่-แผนเยอะ :
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า อยากเปลี่ยนประเทศต้องพูดความจริง ประเทศไทยถ้าเป็นนักวิ่งมาราธอน วันนี้หากมองรอบข้างจะพบว่าเรากำลังตามคนอื่นอยู่ เป็นสัญญาณที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ยอมรับความจริง
ปัญหาของไทยมีค่อนข้างมาก ด้วยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจต่ำที่สุดในอาเซียน คุณภาพของคนในประเทศตกต่ำลง คุณภาพหนี้สูง ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง รวมถึงระบบราชการที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและอุปสรรคที่มาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยกำลังเริ่มเข้าสู่จุดที่ไม่เหมือนเดิม
“เราไม่ใช่คนที่เข้มแข็ง ไม่ใช่คนที่จะเอาชนะคนอื่นได้ แต่กลายเป็นคนที่กำลังเสื่อมถอย และโลกที่เปลี่ยนไปเร็วจะทำให้เราเสื่อมถอยเร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”
ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า The Great Transition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องผลัดใบตนเอง ประเทศไทยไม่แพ้ใคร แต่ด้วยโครงสร้างที่ทำให้สู้ไม่ได้ ไทยอยู่ในระบบที่ไม่ได้เอื้อให้สามารถแข่งขันได้เต็มที่ เราจึงต้องช่วยกันปรับโครงสร้างประเทศไทย ทำอย่างไรให้ประเทศไทยดีขึ้นแบบก้าวกระโดด
“เรามีแผนพัฒนา แต่มันใหญ่และเยอะเกินไป ถ้าหากอยากเปลี่ยนประเทศไทย ไม่ต้องเปลี่ยนเยอะ แต่ต้องเปลี่ยนประเด็นที่ใช่ และต้องกล้าที่จะเปลี่ยน”
ทั้งนี้ มองว่าต้องทำอย่างน้อย 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.ซ่อมฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ 2.ผลัดใบทางเศรษฐกิจ มุ่งสร้างเศรษฐกิจที่อยู่ดีมีสุข 3.ยกเครื่องระบบราชการ และ 4.เสริมสร้างกองทัพ รองรับความท้าทายให้พร้อมรองรับสภาวะแวดล้อม ความมั่นคงในปัจจุบันและอนาคต
“หากเราทำให้เสร็จเป็นเรื่อง ๆ ได้ ประเทศไทยจะค่อย ๆ โต หากเราตั้งเป้าร่วมกันทำเรื่องที่สำคัญก่อน ภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดแน่นอน”
ไทยเก่งเดี่ยว-รวมกันไม่เก่ง :
“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวข้อเปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย ประการแรก ต้องกลับมาอยู่ที่ความพร้อมเรื่องศักยภาพของคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นสิ่งธรรมชาติ อยู่ที่ว่าเราพร้อมและมีองค์ความรู้ขนาดไหน
จากการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คนไทยเราเก่ง แต่มักจะเก่งเดี่ยว ถ้าเก่งแบบรวมพลังจะเห็นน้อย เปรียบเทียบกับกีฬาการแข่งขันโอลิมปิกที่เราส่งนักกีฬาไป เหรียญทองที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเทควันโด มวย หรือยกน้ำหนัก ล้วนเป็นประเภทการแข่งขันเดี่ยว
ถ้ามองเดี่ยว ๆ คนไทยก็มีทักษะไม่ได้แพ้ใคร แต่มวลรวมทั้งประเทศต้องยอมรับว่าสู้ไม่ได้จริง ๆ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม
“เรารวมตัวกันน้อยไป และรวมกันไม่เก่งเท่าคนอื่น ซึ่งน่าเสียดายเพราะยืนแล้วโดดเดี่ยว”
“ฐาปน” ตั้งคำถามว่า เป็นเพราะเรามีกฎเกณฑ์ ระบบระเบียบในบ้านเรา ที่ไม่เอื้อต่อการขยับขยายในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติหรือเปล่า ถ้ามองภาคเอกชนเราขยับขยายไประดับภูมิภาคและนานาประเทศ เช่น กลุ่ม ซี.พี. กลุ่มเซ็นทรัล บริษัทคนไทยเราบริหารห้างสรรพสินค้าในยุโรป ไม่แพ้ใคร ด้านอาหารครัวไทยไปครัวโลก วันนี้ไก่ ซี.พี.กำลังไปอวกาศ อันที่จริงองค์กรเอกชนไทยเราไม่แพ้ใคร ถ้าเราขยับขยายไปข้างนอกได้อย่างเต็มกำลัง ร่วมกับเครือข่ายภาคีได้มากมาย
แต่กลับมาที่บ้าน เรากลายเป็น Superman Syndrome คือ ออกไปข้างนอกมีพลัง แต่กลับมาบ้านเราแล้วแรงน้อย และไม่ใช่แค่ระดับเอกชนรายใหญ่ ระดับฐานราก คนที่ออกมาทำงานข้างนอกสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่กลับไปที่ชุมชนตัวเอง บางครั้งกลับไม่คล่องตัวเหมือนเดิม และมีกลไกบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด
“เรามีอะไรดี ๆ มากมาย แต่ยังประกอบร่างกันไม่ถูก ร้อยเรียงกันไม่ถูก ๊เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย จึงไม่ได้สักแต่ว่าเปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างมีแบบแผน มีกระบวนการ มีกรอบทิศทาง”
รู้ว่าต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนยังไง :
ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการรักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ประเทศไทยยุ่งกับคำว่า “เปลี่ยน” แต่ปัญหาใหญ่คือคนยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ฉันเกี่ยวข้องยังไง
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนสองเรื่องหลัก ได้แก่ การปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง อากาศร้อนก็ร้อนจัด แล้งจัด และจะไม่มีวันลดน้อยถอยลงไป ผลกระทบจะมีมากขึ้น ถี่ขึ้น และรุนแรงเพิ่มขึ้น ไทยจึงต้องเปลี่ยนปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ต้องศึกษาภูมิคุ้มกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้น คนในท้องถิ่นไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง ต้องมีระบบแจ้งเตือน ระบบคาดการณ์ภูมิศาสตร์ การวางผังเมือง ระบบการผันน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนรวม ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง การเปลี่ยนคือต้องช่วยกันทำ นำความรู้ในภาคส่วนต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้าง จัดระเบียบโครงสร้าง นโยบาย กฎหมาย สร้างความรู้ความตระหนักต่อประชาชน ตลอดจนภาคการศึกษา
“โลว์คาร์บอน ต้องแก้ที่สาเหตุ ไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุ หากไม่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่มุ่งสู่ความยั่งยืน ก็จะไม่เกิดผล”
ดร.ณัฐริกากล่าวย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนทุกเพศทุกวัย และไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นเรื่องของความปลอดภัย ตลอดจนความมั่นคงทางน้ำและอาหาร ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการก็ไปไม่รอด
“การดำเนินงานด้านโลกร้อนไม่ใช่ทางเลือก แต่มันคือทางรอด หากไม่ทำก็ไม่รอด จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาด 2.ใช้มาตรการ Carbon Pricing กำหนดราคาคาร์บอน 3.ปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้ 4.สนับสนุนให้มีมาตรการลดหย่อนทางภาษี ให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขายคาร์บอนเครดิต” ดร.ณัฐริกากล่าวปิดท้าย
โจทย์ความมั่นคงที่ไดนามิก :
ด้านพลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย กล่าวว่า เราไม่สามารถเตรียมการรองรับภัยคุกคามหรือความท้าทายในอนาคตได้ในปัจจุบัน เราต้องเจอเหตุการณ์สำคัญก่อน ถึงเรียนรู้ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเรียนรู้แล้วก็มักจะลืมมันไป นี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริง เราเรียนรู้ รับทราบ แต่ไม่เคยต่อยอด
ชัยชนะในสงครามจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปรับตัวรองรับในรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป จะไม่เกิดขึ้นเลยกับผู้ที่รอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นและค่อยปรับตัว เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ปัจจุบันโจทย์ที่ต้องตอบคืออะไร ต้องศึกษาสภาวะเเวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบัน สถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง หรือจีน ตรงนี้เป็นผลกระทบกับเราว่าโจทย์เปลี่ยน เรากำลังเจอสถานการณ์ความมั่นคงที่มีไดนามิกเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะวางตำแหน่งของประเทศอย่างไรให้เราพร้อมรองรับกับโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 ตุลาคม 2567