"เจ้าสัวธนินท์" มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น "ฮับการเงิน" ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ
เงิน คน พลังงาน ใครจะถูกกว่ากัน! "เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" แห่งซีพี มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น "ฮับการเงิน" ดึงดูดนักลงทุน ได้สำเร็จ ปลุกผู้ค้า ก้าวทัน AI-เทคโนโลยี เปลี่ยนผ่าน หัวใจการทำธุรกิจยุคใหม่
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) กล่าวปาฐกถาพิเศษ การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ไทย-จีน ที่ยั่งยืน เพื่อเปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านองค์ความรู้ และความร่วมมือธุรกิจจีน รุ่นที่ 4 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยระบุว่าวันนี้ ผู้ค้า ผู้ประกอบการ ต้องเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน หัวใจการทำธุรกิจยุคใหม่ เพราะโลกปัจจุบันผันผวนและปั่นป่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี แต่ละประเทศมหาอำนาจอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ กลายเป็นคำถามว่า ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนของเรา จะเป็นอย่างไร?
ตัวแปรสำคัญ คือ ประเทศจีน ที่แม้ถูกคาดการณ์ว่า GDP ของจีนจะเติบโตต่ำกว่าในอดีต แค่ราว 4-5% ต่อปี แต่ต้องชี้ว่า จีนมีฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ภายใต้จำนวนประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย 20 เท่าตัว
โครงสร้างภายในเศรษฐกิจของจีนก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากช่วง 40-50 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะหลังก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 มาได้ จีนเปลี่ยนแปลงรุกหน้าหลายอย่าง และจำนวนมหาเศรษฐี หรือคนร่ำรวย คนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าสัว เป็นสตาร์ทอัพเก่งๆ เกิดขึ้นมากมาย จากการก้าวหน้าของระบบการศึกษา ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราคิดไม่ถึง เมื่อมองนึกย้อนไปถึงภาพในอดีตที่เคยไปทำธุรกิจตั้งแต่ยุคแรกๆ
ความเจริญของถนนหนทางและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าประเทศฝั่งยุโรป จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ประเทศจีนเต็มไปด้วยโอกาส ในแง่การค้า การลงทุน กับประเทศไทย ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ดี ในเกมของโลกธุรกิจ วันนี้แม้โอกาสจะมีมาก แต่ก็ไม่ใช่ของทุกคน โดยเจ้าสัว CP ระบุว่า หากแต่ในยุคใหม่ จะมีเพียงคนที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกเป็นผู้ชนะเท่านั้น
เทียบในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น ผู้บริโภคเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ที่หาได้ง่าย ผู้ค้าก็ต้องปรับตัว เพราะคนยุคนี้ซื้อของกันข้ามซีกโลก ขนส่งก็เพียงชั่วข้ามคืน การแข่งขันเต็มไปด้วยผู้ค้ารายใหม่ๆ ใครก้าวไม่ทันก็ล้มละลาย และเอาชนะกันด้วยเรื่อง “ราคา”
ฉะนั้น ถ้ายังผลิตของในต้นทุนที่แพง ก็ขายแข่งขันไม่ได้ ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ ใช้เทคโนโลยี ใช้หุ่นยนต์มาทุ่นแรง ลดต้นทุน เพื่อให้ของที่ผลิตถูกลง เมื่อของเราถูก สุดท้ายลูกค้าก็จะมาหาเอง เพราะเขามีตัวเลือกเยอะ
“วันนี้ ใครทันโลก คนนั้นจะเป็นผู้ชนะ ธุรกิจค้าปลีกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ขายแพงไม่ได้ เพราะโลกเต็มไปด้วยข่าวสาร คนซื้อรู้หมดที่ไหนขายถูก ซื้อง่าย - ขายคล่อง ข้ามโลก ผู้ผลิตก็มากขึ้น เครื่องจักร เทคโนโลยี จะช่วยให้ต้นทุนถูกลง ยิ่งตัวหนักยิ่งต้องทันสมัย เพราะคนตัวเบา เข้ามาเรื่อยๆ”
เจ้าสัว CP ระบุต่อว่า การใช้เครื่องจักรผลิตสินค้า นอกจากลดต้นทุน ยังช่วยทำให้ผลิตต่อครั้งได้มากขึ้น เกิด Economies of Scale หรือต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ถูกสองต่อ อยากให้ผู้ประกอบการ ศึกษาและเรียนรู้ในการใช้ เช่นเดียวกับสถานศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ในการสร้างคน สร้างแรงงานยุคใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะจากนี้ไป เป็นยุคของ AI และแรงงานที่ต้องทำงานกับ AI
ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าว ก็ทำให้คนระดับนโยบาย ต้องหันมาให้ความสำคัญด้วย โดยเฉพาะการทำสภาพแวดล้อม หรือกฎหมาย กฎระเบียบให้พร้อม และเอื้อต่อการเข้ามาลงทุนใหม่ๆ ของต่างชาติ ไม่ใช่รัฐบาลเชิญชวนให้ต่างชาติมาลงทุน แต่ไม่มีอะไรดึงดูด
“จากนี้ไป เมืองไทยต้องสนใจเรื่อง AI เรื่องพลังงาน และต้องทำให้ต้นทุนไฟฟ้าถูกลงให้ได้”
ทั้งนี้ เจ้าสัว CP ยังกล่าวถึงกรณี รัฐบาลเพื่อไทย ประกาศจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลก (Financial Hub) โดยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลชุดนี้จะเข้าใจ เปลี่ยนตามโลกทัน จะเดินหน้าได้สำเร็จ ช่วยกันคิด จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นฮับการเงิน เพราะนี่จะช่วยดึงดูดให้คนเก่งๆ และนักลงทุนอยากเข้ามา ประเทศไทย
อยากฝากให้ระบบการศึกษาไทย ให้ความสำคัญกับหลักสูตร การเงิน การบริหารเทคโนโลยีให้เก่ง เพราะแรงงานในอนาคตที่รู้เรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก คนต้องเรียนรู้เรื่องซอฟต์แวร์ เรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ และเมื่อไทยมีการเงินที่ดี มีความพร้อมของคนด้านเทคโนโลยี คนเก่งจากต่างชาติก็จะอยากเข้ามา ทำการค้า หรือมาอยู่อาศัย ขณะนี้ ขาดแต่ปัจจัยดึงดูด
“เชื่อมือรัฐบาล จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินได้ เชื่อรัฐบาลจะทำ และเมื่อบวกกับเศรษฐกิจเปลี่ยน คนไทยและผู้ค้าก้าวทันโลก เศรษฐกิจไทยจะรุ่งเรือง ผมหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่รวยที่สุดในอาเซียน”
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 18 ตุลาคม 2567