ระวัง "ไทย" ถูกลดเครดิต "ความน่าเชื่อถือ"
ความกังวลที่กำลังกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด คือ ความสุ่มเสี่ยงที่ไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ซึ่งจะกระทบในหลายมิติต่อระบบเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยของบรรดานักลงทุน ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ เช่น สภาพเศรษฐกิจมหภาค เสถียรภาพทางการเมือง นโยบายการคลังและการเงิน ระดับหนี้สาธารณะ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ
นักเศรษฐศาสตร์ไทย ประเมินไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยอาจไม่ถึงกับโดนหั่นเครดิตในเร็ววันนี้ แต่ก็อยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยง เพราะหากจีดีพีประเทศไม่ต่ำกว่า 3% ก็อาจจะแบกต่อไปได้ แต่หากเมื่อไหร่จีดีพีไทยต่ำกว่า 3% จะมีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง และถ้าไทยโดนหั่นเครดิตจริงๆ จะกระทบการตัดสินใจลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อาจชะลอตัว เพราะนักลงทุนต่างชาติจะประเมินความเสี่ยงใหม่ และอาจชะลอตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน การบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
หากมองในด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินเองอาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในการระดมทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจและประชาชน นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้อาจได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น โดยควรมุ่งเน้นการรักษาวินัยทางการคลัง การควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ควรเร่งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุน และการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ การรับมือในระยะยาวจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ เพราะอันดับความน่าเชื่อถือมีความสำคัญ มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศ รัฐบาลจึงไม่ควรนิ่งนอนใจและหาทางแก้ไข การเข้าใจเรื่องเครดิตเรตติ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและไทยอาจตั้งรับไม่ทัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 ตุลาคม 2567