เกาะติดต่างชาติลงทุนไทย ทุ่มแสนล้านรับ "ไฮสปีดเทรน-ดาต้าเซ็นเตอร์"
ตัวเลขการลงทุน 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2567) จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่สูงถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% สูงสุดในรอบ 10 ปีนั้น จะมีการจ้างงานคนไทย 1.7 แสนคน ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ 8 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มมูลค่าส่งออกอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านศักยภาพของประเทศไทย
ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค วัตถุดิบ ผู้ผลิตที่เป็นเหล่าซัพพลายเชนให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า
ในขณะที่กระแสการลงทุนของ Data Center มาพร้อม ๆ กับเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รวมถึง AI และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) บวกกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 สัญญาณบวกจากสงครามการค้าเกิดปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิต พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงกลับมาเป็นทำเลทองอีกครั้ง แน่นอนว่าจะเป็นการจุดสตาร์ตการลงทุนได้อีกมหาศาล เราอาจได้เห็นเม็ดเงินการลงทุนอีกหลายแสนล้านบาททะลักเข้าสู่ประเทศไทย
แก้สัญญาไฮสปีดเทรนฟื้น EEC :
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ได้เห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) หรือเป็นการแก้ไขสัญญาตามที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน ผู้ชนะประมูลได้เสนอไป
โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้อีกหลาย ๆ โครงการที่อยู่ในไปป์ไลน์ขยับเดินหน้าตาม เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะทยอยลงทุนตามมาและในอีกหลายอุตสาหกรรมจะได้รับอานิสงส์ และเข้าไปสู่การเป็นซัพพลายเชนให้กับโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนของไฮสปีดเทรนมีเพียงจุดประสงค์เดียวนั่นคือ ต้องการให้เดินหน้าการลงทุนต่อให้ได้ เพราะไม่เพียงจะเห็นเม็ดเงินจากโครงการดังกล่าวกว่า 2 แสนล้านบาท ยังจะเห็นโครงการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาตลอดเส้นทางรถไฟอีกนับแสนล้านบาท จากธุรกิจรายใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางรถไฟ คาดว่าจะได้เห็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นิคมอุตสาหกรรมพัฒนาพื้นที่รอ :
ในขณะที่ EEC เร่งบูมการลงทุนทำให้เหล่าบรรดายักษ์ทั้ง Google และ Microsoft มุ่งมาที่ไทย
แน่นอนว่า นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเป็นหนึ่งในผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่ และยังเป็นผู้คว้าดีลใหญ่จากการลงนามซื้อขายที่ดินนิคมให้กับทาง Google เพื่อลงทุนทางด้าน Data Center แห่งแรก และยังทำให้ WHA มีรายได้เพิ่มขึ้นจากยอดขายที่ดิน
ในขณะที่ นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศเช่นกัน กล่าวว่านักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีนและไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นกระแสอย่าง Data Center ต่างให้ความสนใจและเข้ามาเจรจาเพื่อสรรหาพื้นที่ที่มีโลเกชั่นที่ดีที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ภาพรวมในตลาดพบว่า ราคาที่ดินพุ่งถึง 30% จาก 5 ล้านบาท อยู่ที่ 7-8 ล้านบาท เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการตัดสินใจลงทุนใน EEC
เดลต้าทุ่ม 1.6 หมื่นล้านบาท :
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดลต้าจะใช้เม็ดเงินกว่า 16,500 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตและ R&D รองรับ Data Center เซมิคอนดักเตอร์ AI (EV) รวมไปถึง PCB สำหรับการลงทุน Data Center มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 25% และมีแนวโน้มที่สัดส่วนจะเพิ่มขึ้น Data Center จะมีเงื่อนไขข้อจำกัดในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาดที่เป็น Green Energy รัฐบาลไทยจึงจำเป็นที่ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายการสนับสนุนพลังงานสะอาด ทั้งแสงอาทิตย์ ลม เพื่อซัพพอร์ตภาคการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่เชื่อว่าจะต้องการมากขึ้นในปี 2568
ในขณะที่ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” อาจเข้ามาเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับไฟฟ้าในประเทศ และกำลังไฟจากเมกะวัตต์จะเพิ่มเป็นจิกะวัตต์ นี่อาจกำลังเป็นสัญญาณบอกให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม หากจะต้องมีพลังงานสะอาดมารองรับการลงทุน ซึ่งมันยังสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยที่ไทยอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านอีกเลย
3 นักลงทุนขอบีโอไอ :
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การลงทุนเป็นไปอย่างที่ได้คาดการณ์ไว้ เราได้เห็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด อย่าง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล โดยเฉพาะกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กิจการ Data Center ที่มีจำนวนถึง 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และอินเดีย หรือจาก “Google Nextdc และ Ctrls”
แม้เราจะเห็นยอดขอรับการส่งเสริมที่สูงถึง 7.2 แสนล้านบาท แต่นี่เป็นเพียงตัวเลขคำขอ นั่นหมายถึงยังไม่ใช่การลงทุนจริง จนกว่าบอร์ดบีโอไอจะมีการอนุมัติการลงทุนและออกบัตรส่งเสริม ซึ่ง 9 เดือนแรกของปีนี้การออกบัตรส่งเสริมอยู่ที่ 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้น 59% เงินลงทุน 672,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% จากนั้นจึงจะเริ่มเห็นการทยอยลงทุนใน 1-3 ปี
ส.อ.ท.มองสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหม่ :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในพื้นที่ EEC เองมีศักยภาพเต็ม 100% มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมมาก แต่มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นโจทย์ใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องรับมือ
หากไทยสามารถไปถึง Net Zero ให้เร็วขึ้นอีก 15 ปี หรือภายในปี 2593 นับจากนี้เราจะเริ่มเห็นการลงทุนจากอุตสาหกรรมสีเขียว ที่เน้นในเรื่องของ BCG SDG ESG ซึ่งจะดึงการลงทุนเข้ามาประเทศไทยได้ไม่น้อย
นับเวลาถอยหลังอีกไม่ถึง 3 เดือน จะเป็นการวัดฝีมือของประเทศไทยว่า ที่ผ่านมายังคงมีเสน่ห์น่าดึงดูดเช่นเดิมหรือไม่ เป้าหมายยอดขอรับบีโอไอ ที่คาดว่าปี 2567 จะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น ในท้ายที่สุดแล้วจะมีการลงทุนจริงมากน้อยเพียงใด
บทพิสูจน์นี้อยู่ที่ความชัดเจนนโยบายจากรัฐบาล ขณะที่ในฝั่งของเอกชนพร้อมรองรับคลื่นการลงทุนตลอดทั้งปี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 ตุลาคม 2567