IMF ลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2025 ยุโรปโดนหั่น สหรัฐสุดแกร่งได้ปรับเพิ่ม
ไอเอ็มเอฟ (IMF) หั่นคาดการณ์จีดีพีโลกในปี 2025 ลงเล็กน้อย ยูโรโซนโดนหั่น ด้านสหรัฐสุดแกร่ง ได้ปรับเพิ่ม จีนโดนหั่นคาดการณ์ตัวเลขของปีนี้แต่คงตัวเลขของปีหน้า เตือนเศรษฐกิจโลกเผชิญกับหลายความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2024 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และเตือนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสงครามและนโยบายกีดกันทางการค้า แม้ว่าจะให้เครดิตกับธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษกิจโลก (World Economic Outlook) ที่เผยแพร่ในวันที่ 22 ตุลาคมว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีของโลกในปี 2025 จะโต 3.2% จากปีก่อนหน้า (YOY) ปรับลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะโต 3.3% และยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้ไว้ที่ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอลงเหลือ 4.3% ในปี 2025 จาก 5.8% ในปีนี้
ยูโรโซนถูกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปี 2025 ลงเหลือ 1.2% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า 1.5% เนื่องจากยังมีความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในภาคการผลิตของเยอรมนีและอิตาลี
เศรษฐกิจสหรัฐได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์ในปีนี้เป็นโต 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2025 โต 2.2% เนื่องจากการบริโภคที่แข็งแกร่งขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจจีน IMF ปรับลดอัตราการเติบโตในปีนี้ลงเหลือ 4.8% จากเดิมคาดว่าจะโต 5% เนื่องจากความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงอยู่และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ ส่วนคาดการณ์ของปี 2025 คงไว้ที่ 4.5% เท่ากับคาดการณ์เดิม
ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส (Pierre-Olivier Gourinchas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของจีนจะเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่มาตรการที่ประกาศโดยธนาคารประชาชนจีน (PBOC) เมื่อเดือนกันยายนยังไม่เพียงพอที่จะยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนมาตรการล่าสุดของกระทรวงการคลังยังไม่ได้ถูกคำนวณในการคาดการณ์ของ IMF
IMF ชื่นชมธนาคารกลางที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงได้โดยไม่ผลักดันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เรียกว่าเป็น “ความสำเร็จครั้งใหญ่”
อย่างไรก็ตาม IMF เตือนว่า โลกเผชิญกับหลาย ๆ ความเสี่ยง ทั้งนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าที่ตั้งใจไว้ แรงกดดันหนี้สาธารณะที่เลวร้ายลงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากภูมิอากาศแปรปรวน สงคราม และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
IMF ได้เตือนมาสองสามปีแล้วว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับปานกลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่อไปในระยะกลาง ซึ่งน้อยเกินไปที่จะให้ประเทศต่าง ๆ มีทรัพยากรเพียงพอที่จะลดความยากจนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้
“ความเสี่ยงในด้านลบกำลังก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกก็กำลังเพิ่มมากขึ้น” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวในการแถลงข่าว ก่อนจะกล่าวว่า มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้สินค้าโภคภัณฑ์ราคาสูงขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของการกีดกันทางการค้า นโยบายกีดกันทางการค้า การหยุดชะงักของการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทั่วโลกด้วย
กูรินชาสกล่าวอีกว่า ภาษีศุลกากรและความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างประเทศมีความเสี่ยงที่จะทำให้ระดับจีดีพีรวมทั่วโลกลดลงประมาณ 0.5% ในปี 2026
เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ IMF ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 93% ของจีดีพีโลก ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการพุ่งสูงขึ้นของระดับหนี้สาธารณะนี้ขับเคลื่อนโดยหนี้ของสหรัฐอเมริกาและจีน
IMF กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัดสินใจยากลำบากเพื่อคงระดับหนี้เอาไว้ IMF กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนมีความต้องการลดการใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยท่ามกลางแรงกดดันในการระดมทุนสำหรับพลังงานที่สะอาดขึ้น ช่วยเหลือประชากรสูงอายุ และเสริมสร้างความปลอดภัย “ความเสี่ยงต่อแนวโน้มหนี้สินจึงเอียงไปทางบวกอย่างมาก”
IMF กล่าวว่า เนื่องจากมีแรงจูงใจทางการเมืองน้อยมากในการที่จะตัดลดการใช้จ่ายของรัฐ ท่ามกลางแรงกดดันในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด การช่วยเหลือประชากรสูงวัย และเสริมความมั่นคง จึงมีความเสี่ยงที่แนวโน้มหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 ตุลาคม 2567