ไทยจะโดนเล่นงานอะไรในยุค "ทรัมป์ 2.0"
การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเขย่าระเบียบเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ด้วยนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ที่จะกระทบการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลก เนื่องจากทรัมป์ประกาศที่จะขึ้นภาษีศุลกากรในระดับ 10-20% กับประเทศที่เกินดุลค้ากับสหรัฐ
โดยเฉพาะจีนที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีถึงระดับ 60% ดังนั้น ผู้แพ้รายใหญ่ในเกมนี้ได้แก่ เม็กซิโก จีน สหภาพยุโรป ที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมหาศาล ในส่วนของประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่มีเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นอันดับที่ 19 โดยมีมูลค่าเกินดุล 3.28 หมื่นล้านดอลลารสหรัฐ (รวม 12 เดือน) ณ เดือน ต.ค. 2567
ผู้เขียนมองว่า นโยบายของรัฐบาลทรัมป์จะทำได้ไม่รวดเร็วนัก และเนื่องจากการทำสงครามการค้าคือการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบลำดับแรกขึ้นชาวอเมริกัน ที่ต้องนำเข้าสินค้าราคาแพงขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ต้องทำ คือการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งก่อน ซึ่งจะทำได้ด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% สู่ 15% ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก และอาจต้องรอไปถึงช่วงปลายปี 2025
เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ทรัมป์ได้ประกาศมาในครั้งที่แล้ว (Tax cut and Job Act 2017) จะหมดอายุช่วงดังกล่าว ดังนั้น ในช่วงปี 2025 อาจยังไม่เห็นการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะเป็นการใช้มาตรการอื่น ๆ กดดันการค้าและการลงทุนของประเทศอื่น ๆ เพื่อมานั่งโต๊ะเจรจาการค้ากับรัฐบาลทรัมป์
ในส่วนของไทย ผู้เขียนได้กลับไปพิจารณาผลกระทบต่อไทยในยุคทรัมป์ 1.0 เพื่อเตรียมรับมือกับคลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยพบว่า บทเรียนจากยุคทรัมป์ 1.0 (2017-2020) เรามีปัญหาด้านการค้ากับสหรัฐสำคัญ ๆ 3 ประการ
ประการแรก :
ไทยถูกตัดสิทธิ GSP (Generalized System of Preference) ที่เป็นมาตรการที่ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในรูปของการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้า โดยถูกตัดสิทธิมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ทำให้สินค้าหลายรายการต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น
สินค้าสำคัญ ได้แก่
(1) ผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเล เช่น กุ้งแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง
(2) สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ อาหารแปรรูป
(3) สินค้าอุตสาหกรรม: เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติก
(4) ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์และยาง: เช่น ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ เคมีภัณฑ์บางประเภท
(5) สินค้าอุปโภคบริโภค: เช่น เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มบางประเภท
การถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้สินค้าเหล่านี้ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติแทนอัตราพิเศษ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน Watch List (WL) ในประเด็นการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยสหรัฐกังวลในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ การจำหน่ายสินค้าปลอมแปลง ความล่าช้าในกระบวนการจดสิทธิบัตร และ การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอาจนำประเด็นเหล่านี้มาเล่นงานได้
ประการที่สอง :
ไทยถูกจัดให้อยู่ในสถานะ ประเทศที่ต้องจับตาใน เกณฑ์ประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ของสหรัฐ
เกณฑ์ดังกล่าว มี 3 ข้อหลัก และประเทศที่ถูกจับตาต้องเข้าเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ ดังนี้
(1)เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (Bilateral Trade Surplus): มากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 32,839 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยเข้าข่ายเกณฑ์นี้
(2)เกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Surplus): มากกว่า 3% ของ GDP ไทยมีเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ระดับ 1-2% ของ GDP ซึ่งไทยไม่เข้าข่ายเกณฑ์นี้ โดยปัจจุบันเกินดุลประมาณ 2.5% GDP (ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
(3)การแทรกแซงตลาดเงินตรา (Foreign Exchange Intervention) โดยเงินตราต่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้นเกิน 2% ของ GDP ในช่วง 12 เดือน (สำหรับไทย คิดเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งในไทยเข้าข่ายเกณฑ์นี้เนื่องจากทุนสำรองปัจุบันสูงกว่าเมื่อ 12 เดือนก่อนที่ 2.53 หมื่นล้านดอลลาร์
โดยสรุป ปัจจุบันไทยเสี่ยงที่จะถูกจัดว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง และมีการสั่งสมทุนสำรอง ซึ่งเมื่อหากถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนแล้ว ไทยอาจต้องทำตามเกณฑ์บางประการของสหรัฐเพื่อไม่ให้ถูกโจมตีทางการค้าการลงทุน
ประเด็นที่สาม :
ประเด็นการนำเข้าหมูเนื้อแดง: นับตั้งแต่ปี 2004 ที่เริ่มมีการเจรจาการค้า FTA ไทย-สหรัฐ ประเด็นสำคัญที่ทำให้การเจรจาการค้าไม่คืบหน้า เป็นเพราะสหรัฐกดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง
ในปี 2017 สหรัฐ ยื่นคำขออย่างเป็นทางการให้ไทยพิจารณาเปิดตลาด โดยมองว่าการห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สาร Ractopamine เป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ฝ่ายไทยมองว่ามีสิทธิ์ที่จะกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของตนเอง เช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรปก็ห้ามใช้สารนี้เช่นกัน
นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกว่า 180,000 ราย และฟาร์มขนาดกลางถึงใหญ่อีกประมาณ 20,000 ราย การเปิดตลาดนำเข้าอาจส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ 15-20%
ซึ่งผู้เขียนมองว่า เป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะบีบให้ไทยนำเข้าหมูเนื้อแดงจากสหรัฐ มิฉะนั้นจะมีการขึ้นภาษีการค้าในสินค้าของไทย
โดยสรุป ความท้าทายในยุคทรัมป์ 2.0 สำหรับประเทศไทยจะรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากทรัมป์จะกลับมาพร้อมประสบการณ์และทีมงานที่แข็งแกร่งกว่า
การตัดสิทธิ GSP เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐอาจเจอมาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น เช่น ประเด็น Currency Manipulator ประเด็นบังคับนำเข้าหมูเนื้อแดง รวมถึงประเด็นอื่นๆ
แม้สถานการณ์จะดูท้าทาย แต่ผู้เขียนมองว่านี่อาจเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการปรับตัวและพัฒนาใน 4 ด้าน กล่าวคือ
(1) การกระจายความเสี่ยงทางการค้า ไทยควรเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐและจีน
(2) การพัฒนาตลาดภายในประเทศเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายใน เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก
(3) การเร่งเจรจาการค้า ผลักดันการเจรจา FTA ทั้งกับสหรัฐและประเทศอื่นๆ และ
(4) การส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนให้บริษัทไทยขยายการลงทุนในสหรัฐ พร้อมทั้งเปิดตลาดให้สินค้าคุณภาพจากสหรัฐ ที่เป็นไปตามมาตรฐานของไทย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลมากขึ้น
สงครามการค้าโลกกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ไทยพร้อมแล้วหรือยัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567