5 ปีต่อจากนี้ เศรษฐกิจ APEC จะโตช้ากว่าทั้งโลก
ในระหว่างการประชุมผู้นำชาติสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือประชุมสุดยอดเอเปค 2024 (APEC Summit 2024) มีการเผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการของเอเปคที่คาดการณ์ว่า ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เศรษฐกิจของกลุ่ม 21 ประเทศเอเปคจะเติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจส่วนที่เหลือของโลกและภาพรวมของทั้งโลก
ในรายงาน “วิเคราะห์แนวโน้มภูมิภาคเอเปค” (APEC Regional Trends Analysis) ซึ่งจัดทำโดยหน่วยสนับสนุนนโยบายเอเปค (APEC Policy Support Unit) คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเอเปคจะอยู่ที่ 3.5% ในปี 2024 แล้วจะชะลอลงเหลือ 3.1% ในปี 2025 จากนั้นจะชะลอลงเหลือ 3.0% ในปี 2026 และจะชะลอตัวลงอีกเหลือ 2.7% ในระยะกลาง (เฉลี่ยปี 2027-2029)
ขณะที่อัตราการเติบโตของส่วนที่เหลือของโลก (ไม่นับรวมเอเปค) จะอยู่ที่ 2.9% ในปี 2024 แล้วเร่งตัวขึ้นเป็น 3.4% ในปี 2025 ตามด้วย 3.6% ในปี 2026 และอยู่ที่ 3.6% ในระยะกลาง (เฉลี่ยปี 2027-2029)
ส่วนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจรวมทั้งโลก (นับรวมเอเปค) จะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2024 และ 2025 ก่อนจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.3% ในปี 2026 และเป็น 3.1% ในระยะกลาง (เฉลี่ยปี 2027-2029)
ความเสี่ยงสำคัญที่รายงานระบุว่าอาจเป็นปัจจัยจำกัดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเอเปคในระยะกลาง คือ หนี้ที่พุ่งสูงและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อลงรายละเอียดปัจจัยด้านเงินเฟ้อรายงานระบุว่า อาจมีแรงกดดันด้านราคาจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของประเทศต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินระดับปานกลาง แต่ไม่ได้ประเมินผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์โดยตรง
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของหลาย ๆ ประเทศ รายงานนี้คาดการณ์ว่า ในปี 2025 การค้าของเอเปคจะเติบโตอย่างไม่ทั่วถึง กล่าวคือบางประเทศค้าขายได้มากขึ้น แต่บางประเทศยังเท่าเดิมหรือน้อยลง แต่ในภาพรวมอาจขยายตัวได้ 4.4% หากไม่มีผลกระทบเชิงลบที่เหนือความคาดหมายเข้ามา
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการค้าในเอเปคจะยังคงเปราะบางท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทั่วโลก รวมถึงมาตรการจำกัดการค้า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแกร่ง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกีดกันทางการค้า เป็นภัยคุกคามต่อแนวโน้มการค้าปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกเอเปค”
ในรายงานบอกอีกว่า ข้อจำกัดทางการค้าและมาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedies) ซึ่งหมายความรวมถึงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ในช่วงหลังโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2024 มาตรการจำกัดทางการค้ามีจำนวน 345 ฉบับ และมาตรการเยียวยาทางการค้ามีจำนวน 944 ฉบับ
อีกปัจจัยที่รายงานระบุว่าเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจเอเปค คือ ประชากรสูงอายุ เนื่องจากประเทศสมาชิกเอเปคกว่าครึ่งหนึ่งกำลังเผชิญปัญหาประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2022 มากกว่าครึ่งของประเทศสมาชิกเอเปครายงานอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ 20-51 คนต่อประชากรวัยทำงาน 100 คน เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 1990 ซึ่งอัตราส่วนสูงสุดอยู่ที่ 19 คนต่อประชากรวัยทำงาน 100 คน
รายงานเตือนว่า อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ไฮไลต์ให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแรงกดดันด้านประชากรสูงอายุที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของกำลังแรงงาน
“แรงงานหดตัว ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญที่สูงขึ้น ฐานภาษีลดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง เป็นเพียงผลกระทบเชิงลบที่สำคัญบางประการจากประชากรสูงอายุ” รายงานของหน่วยนโยบายเอเปคระบุ และบอกอีกว่า จำเป็นที่จะต้องมีการตอบสนองเชิงนโยบายอย่างเหมาะสมในระยะเวลาอันใกล้นี้
ที่ว่ามาเป็นคาดการณ์อนาคตที่ไม่สดใส แต่คณะจัดทำรายงานก็มองถึงโอกาสในการเติบโตด้วยว่า โอกาสอาจมาจากการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) อัตราเงินเฟ้อในระดับปานกลางที่อาจส่งผลให้การบริโภคและกิจกรรมการลงทุนแข็งแกร่งขึ้น และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะสั้นและระยะกลาง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567