ญี่ปุ่นดันกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดเพดานภาษี คาดเงินสะพัด 39 ล้านล้านเยน
ญี่ปุ่นดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดเพดานภาษี คาดเงินสะพัด 39 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีมากถึง 8 ล้านล้านเยน
บลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2024 ว่าชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.85 ล้านล้านบาท) เพื่อจัดการความท้าทายจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นค่าจ้าง ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงว่าจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพ
บลูมเบิร์กอิงตามเอ็นเอชเค (NHK) องค์กรสื่อสาธารณะของญี่ปุ่นที่รายงานว่า มาตรการดังกล่าวจะมีวงเงินสูงถึง 21.9 ล้านล้านเยน (ราว 4.85 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย แบ่งเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ 13.9 ล้านล้านเยน (ราว 3.1 ล้านล้านบาท) ร่วมกับการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าอาจสร้างเม็ดเงินสะพัดโดยรวมประมาณ 39 ล้านล้านเยน (ราว 8.7 ล้านล้านบาท)
แผนการที่ยื่นต่อรัฐสภาคาดว่าจะได้รับการลงมติเห็นชอบในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ หลังจากที่นายกอิชิบะเดินทางกลับจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ณ สาธารณรัฐเปรู โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวถือเป็นบททดสอบสำคัญต่อความสามารถในการบริหารนโยบายของนายกอิชิบะ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นผู้นำรัฐบาลเสียงข้างน้อย
กระนั้น การใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวมีแนวโน้มจะเพิ่มภาระให้กับญี่ปุ่น ซึ่งมีหนี้สาธารณะมากสุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว
บลูมเบิร์กรายงานว่า มาตรการออกแบบมาเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างให้ดำเนินต่อไป และจะมีการแจกเงินให้เปล่าแก่ครัวเรือนรายได้ต่ำ ตลอดจนจัดสรรเงินสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ รัฐบาลยังยืนยันว่าจะกลับมาให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สอีกครั้งตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม เพื่อปกป้องครัวเรือนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังระบุถึงข้อหารือปฏิรูปภาษีในปีงบประมาณ 2025 ตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (DPP) ซึ่งต้องการเพิ่มเพดานรายได้ปลอดภาษี จากระดับ 1.03 ล้านเยน (ราว 230,000 บาท) เป็น 1.78 ล้านเยน (ราว 398,000 บาท) อีกด้วย
รัฐบาลเสียงข้างน้อยของนายกอิชิบะจำเป็นต้องยินยอมข้อเรียกร้องจากพรรคที่เล็กกว่าเพื่อให้มั่นใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้เวลา จึงจะสามารถรู้ต้นทุนทั้งหมดในข้อตกลงของพรรค DPP ได้
เคย์สึเกะ ทสึรุตะ (Keisuke Tsuruta) นักวางแผนกลยุทธ์ตราสารหนี้อาวุโส ที่มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกนสแตนลีย์ ซีเคียวริตี้ส์ (Mitsubishi UFJ Morgan Stanley) กล่าวว่า ตัวเลขยังถูกประมาณการอย่างหยาบ ๆ เท่านั้น ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับว่า เพดานรายได้ปลอดภาษีจะถูกเพิ่มระดับไปมากน้อยเพียงไร
หากเพดานรายได้ปลอดภาษีถูกเพิ่มขึ้นเป็น 1.78 ล้านเยนตามที่พรรค DPP ต้องการ กระทรวงการคลังประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีมากถึง 8 ล้านล้านเยน (ราว 1.79 ล้านล้านบาท) ซึ่งการประนีประนอมให้ช่องว่างรายได้ภาษีแคบลง เป็นผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นของการหารือดังกล่าว
ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงกว่าขนาดเศรษฐกิจถึง 2.5 เท่า และเป็นที่คาดกันว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ทั้งยังคาดอีกด้วยว่าภาระหนี้ต่อรายได้ของญี่ปุ่นจะสูงมากขึ้นกว่าเดิม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567