เอกชนจี้กำจัดจุดอ่อน พลิก ศก.ไทย สัญญาณอันตราย 5 ปีจากนี้ ขีดแข่งขันทรุด
เอกชนจี้รัฐ เร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไทย หลัง 10 ปีผ่าน จีดีพีโตเฉลี่ยต่ำกว่า 2% รั้งท้ายอาเซียนส่อสูญเสียขีดแข่งขันประเทศ กระทุ้งปฏิรูปกฎหมายให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น ลุยเศรษฐกิจสีเขียว-พลังงานสะอาดจุดขายใหม่ดูดลงทุน หอการค้าเปิดจุดอ่อนไทย ฉุด ศก.โตต่ำศักยภาพ
จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2567 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยปรับดีขึ้น 5 อันดับ (จากอันดับที่ 30 ในปี 2566) โดยการจัดอันดับพิจารณาจาก 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้หากโฟกัสเฉพาะภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยสิงคโปร์ครองอันดับ 1 ของโลก และของอาเซียนทางด้านความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 25 อินโดนีเซีย อันดับ 27 มาเลเซีย อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 52 ตามลำดับ
สภาพัฒน์หวังขีดแข่งขันดีขึ้น :
ทั้งนี้นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เป้าหมายภายใน 3-4 ปีข้างหน้า อยากเห็นอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยนำหน้าหลักสิบด้วยเลข 1 ทั้งนี้มีเป้าหมายเศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี (จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยต่ำกว่า 2% ต่อปี) โดยในส่วนของประสิทธิภาพภาครัฐ การคลัง นโยบายภาษี มีการจัดเก็บได้ดีขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องกฎหมายธุรกิจที่ไทยต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น แต่หากกฎระเบียบยังเป็นอุปสรรคก็ต้องเร่งปรับปรุง
FDI ไทยพุ่งแต่ยังน้อยกว่าเพื่อนบ้าน :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้เวลานี้ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มียอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ๆ มา (ขอรับการส่งเสริม 2,195 โครงการการ มูลค่าเงินลงทุน 722,528 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI 1,449 โครงการ เงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท) แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังมีต่อประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากกระแสของการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากจีน และจากประเทศต่าง ๆ จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการรองรับการลงทุน และรัฐบาลโดยบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจ
จะเห็นว่าเวลานี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ตรงกับความต้องการของรัฐบาล ที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุน เช่น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีฐานการผลิตรถยนต์เดิมที่เข้มแข็งที่ยังถือเป็นบุญเก่า ช่วยจูงใจต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี
“อย่างไรก็ดี ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมลงทุนของไทย หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ถือเป็นคู่แข่ง เรายังน้อยกว่าเวียดนาม มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ที่ต่างชาติเข้าไปขยายฐานการลงทุนมากกว่าเรา แต่ถ้าเทียบกับตัวเราเองตัวเลขการขอรับการส่งเสริมก็ถือว่าดีที่สุดในรอบ 10 ปี ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าสิ่งที่รัฐบาลและบีโอไอได้ดำเนินการยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติที่เลือกประเทศไทย โดยเฉพาะแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวเด่น ที่ในช่วงปีที่ผ่านมามีย้ายเข้ามาลงทุนในไทยแล้วเป็นร้อยบริษัท มีมูลค่าการลงทุน 1.6 -1.7 แสนล้านบาท”
ชูแรงงานทักษะ-พลังงานสะอาดจุดขายใหม่ :
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งดำเนินการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการลงทุน และประกอบธุรกิจให้มีความง่ายขึ้น (Ease of Doing Business) ทั้งในแง่กฎระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ที่มีความล้าสมัยต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิก การเร่งพัฒนาบุคลากร แรงงานทักษะสูง และมีพลังงานสะอาดเพียงพอรองรับการลงทุนที่ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ของโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก การช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และประกาศเป็นจุดขายใหม่ในการดึงการลงทุน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจง่ายขึ้น
“เรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทยแม้จะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มาก แต่เราก็พยายามเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนเพิ่มขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งคือ การแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความง่ายในการประกอบธุรกิจของคนไทยและต่างชาติ เฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบุคลากร และแรงงานที่มีทักษะฝีมืออย่างเพียงพอ มารองรับ ซึ่งในหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็มีการโชว์จุดขายในเรื่องนี้ แม้จะยังไม่ผลิตคนเลย แต่พอประกาศก็ถือเป็นตัวดึงดูดการลงทุนแล้ว”
หอการค้าเปิดจุดเด่น-จุดด้อยไทย :
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน ไทยยังมีจุดเด่น และจุดด้อยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
จุดเด่น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย,ที่ตั้งของประเทศในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะในด้านการเกษตรและอาหาร, มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางบกและทางอากาศ
นอกจากนี้ประเทศไทยมีแรงงานมีฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ, มีต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่ำ, มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดี อาหารอร่อย, การติดต่อทำธุรกิจผ่านระบบราชการได้โดยสะดวก และยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
ส่วนจุดด้อย ได้แก่ ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความคล่องตัวต่ำ มีภาวะการตอบสนองที่ช้า, มีระบบการศึกษาและระดับการพัฒนานวัตกรรมที่จำกัด, ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จำกัด ,โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ยังไม่ดีนัก, คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ, มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
จี้เร่งแก้ 6 ด้านปัญหาเชิงโครงสร้าง :
ทั้งนี้จากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มลดลง ภาคเอกชนเห็นว่าภาครัฐควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย สานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 ด้าน ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เคยเสนอ ได้แก่
1.)Competitiveness ควรเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน
2)Ease of Doing Business ควรปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดระบบราชการที่ซับซ้อน
3)Digital Transformation การพัฒนาทักษะเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ภาครัฐควรลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานไทยมีความสามารถในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมนวัตกรรมและการลงทุนใน R&D
4)Human Development ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ
5)การสนับสนุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการเพิ่มทักษะและนวัตกรรมสำหรับ SMEs
6)Sustainability การส่งเสริมความยั่งยืนเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวและเศรษฐกิจชีวภาพ
“ส่วนข้อเสนอในการต่อยอดโอกาส และจุดเด่นของไทย คือการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมสร้างอุตสาหกรรมการผลิตที่ไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และการท่องเที่ยว โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ในการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ยังไม่เคยเจาะตลาด รวมถึงตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียน เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง”
จีดีพี "ฟิลิปปินส์-เวียดนาม"จ่อแซงไทย :
อย่างไรก็ดี จากความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือมีความน่ากังวลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงาน World Economic Outlook ณ เดือนตุลาคม 2024 (2567) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วง 4-5 ปีนับจากนี้ ชี้ชัดว่าประเทศกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยจะถูกฟิลิปปินส์ และเวียดนามแซงภายในปี 2571 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 25 ตุลาคม 2567